วิธีวิเคราะห์คู่แข่งในตลาดเพื่อเลือกธุรกิจที่ดีสำหรับการเริ่มต้นใหม่นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุนทุกคนควรต้องทำก่อนที่จะเริ่มกิจการอะไรสักอย่างกัน ถ้าใครเคยลงทุนทำธุรกิจกันมาบ้างแล้วน่าจะรู้ดีเลยว่าทันทีที่เริ่มต้น ปัญหาต่าง ๆ ก็จะตามมาทันทีเช่นกัน อะไรที่เคยคิดว่าไม่น่าเกิดก็จะเกิดขึ้นเมื่อลงมือทำนี่แหละ
ดังนั้น Competitive Analysis หรือการวิเคราะห์คู่แข่งจึงมีความจำเป็นเพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นลง ถ้ารู้ว่าคู่แข่งของคุณกำลังขายอะไรด้วยกลยุทธ์แบบไหนก็จะช่วยให้มีข้อมูลกลับมาปรับปรุงธุรกิจของคุณได้ สำหรับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ก็จะช่วยให้คุณสามารถประเมินได้ว่าควรจะเริ่มต้นทำอะไรก่อน ควรต้องใช้กลยุทธ์แบบไหนเพื่อเอาชนะคู่แข่งและแย่งส่วนแบ่งตลาดมาได้ เป็นต้น
Competitive Analysis คืออะไร
- Competitive Analysis หรือ Competitor Analysis คือการวิเคราะห์คู่แข่งว่ามีจุดเด่นและจุดด้อยอะไรบ้าง
- เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับธุรกิจของตัวเองว่าจะสามารถปรับปรุงสินค้าและบริการให้โดดเด่นกว่าคู่แข่งได้อย่างไร จะต้องทำการตลาดแบบไหนให้ปังกว่า เปิดขายแล้วได้ยอดดีกว่า
- แต่การจะวิเคราะห์คู่แข่งให้ได้ตรงจุดที่สุดก็ต้องไปเก็บข้อมูลจริงด้วยตัวเอง โดยอาจจะไปสอบถามจากกลุ่มลูกค้าเองเลยก็ได้
- ถ้ามโนข้อมูลของคู่แข่งขึ้นมาเองก็จะทำให้วางกลยุทธ์การขายไปผิดทาง แล้วก็จะกลายเป็นการขาดทุนหรือเจ๊งต่อได้ในที่สุด
ก่อนเริ่มทำ Competitive Analysis ควรต้องเลือกคู่แข่งอย่างเหมาะสม เลือกแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เลือกให้เป็นว่าต้องนำข้อมูลส่วนไหนมาวิเคราะห์ และจะต้องคิดตามด้วยว่าทำไมลูกค้าถึงเลือกใช้บริการคู่แข่งของคุณ
4 เทคนิคที่ต้องรู้ก่อนการทำ Competitive Analysis
การจะเริ่มทำ Competitive Analysis ก็จะต้องมีการเลือกคู่แข่งที่จะนำมาวิเคราะห์กันก่อน ถ้าใช้เทคนิค 4 ข้อนี้ก็จะช่วยให้เลือกคู่แข่งได้อย่างเหมาะสม ช่วยให้วิเคราะห์ต่อได้ถูกทางด้วยเช่นกัน
1.เลือกคู่แข่งที่ดูเท่าเทียมกัน
- หลักในการเลือกคู่แข่งขึ้นมาวิเคราะห์จะต้องเลือกธุรกิจหรือร้านที่ดูเท่าเทียมกับธุรกิจของเรา ห้ามเลือกธุรกิจที่ด้อยกว่าหรือโดดเด่นกว่าเรามาก ๆ เพราะวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์คู่แข่งคือการนำมาเปรียบเทียบแล้วพัฒนาธุรกิจของตัวเอง
- ถ้าเลือกธุรกิจที่ด้อยกว่าก็จะมองไม่เห็นโอกาส แต่ถ้าเลือกธุรกิจที่โดดเด่นมาก ๆ ก็จะมองเห็นแต่ปัญหาของตัวเอง
- ดังนั้นต้องเลือกธุรกิจที่ดูเท่าเทียมหรือเหนือกว่าเราเล็กน้อยเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ที่ดีที่สุด
2.เลือกแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ
- การเก็บข้อมูลของคู่แข่งมาใช้วิเคราะห์ก็ทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการทำแบบสอบถามจากกลุ่มลูกค้าโดยตรง การสังเกตพฤติกรรมลูกค้า การทดลองใช้สินค้าของคู่แข่ง ยิ่งเป็นยุคนี้ธุรกิจหลายประเภทยังใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเก็บข้อมูลได้
- ตัวอย่างเช่น การเข้าไปดูในเพจของคู่แข่ง การดูโพสต์รีวิวตามเว็บบอร์ดว่าลูกค้าพูดถึงคู่แข่งของคุณอย่างไร เป็นต้น
3.เลือกให้ถูกว่าต้องวิเคราะห์ในส่วนไหน
- เมื่อได้ข้อมูลที่มีคุณภาพมาแล้วก็จะต้องเลือกให้เป็นด้วยว่าควรนำข้อมูลส่วนไหนมาใช้วิเคราะห์
- ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการข้อมูลมาเพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้า ก็ควรโฟกัสในส่วนของสินค้ามากกว่าเรื่องสถานที่ แต่ถ้าต้องการหาช่องทางการขายสินค้าเพิ่มก็อาจจะโฟกัสเรื่องสถานที่มากกว่าคุณภาพสินค้า เป็นต้น
4.คิดตามว่าทำไมลูกค้าถึงเลือกคู่แข่งของคุณ
- ไม่ว่าจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์กันในเชิงไหนก็จะต้องใช้มุมมองของลูกค้าเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลด้วย
- โดยอาจจะใช้วิธีตั้งคำถามขึ้นมาว่าถ้าเราเป็นลูกค้าแล้วเราจะซื้อสินค้าของคู่แข่งไหม ซื้อเพราะอะไร สินค้าพวกนี้ตอบโจทย์ความต้องการของเรามากแค่ไหน เท่านี้ก็จะช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุดมากที่สุด
ความสำคัญของการวิเคราะห์คู่แข่งในตลาด
ในยุคที่มีธุรกิจเปิดใหม่กันอยู่ตลอดเวลาเช่นทุกปัจจุบัน แน่นอนว่าการขายสินค้าหรือบริการแทบทุกอย่างนั้นเราจะไม่ใช่เจ้าแรกของตลาด การศึกษาและวิเคราะห์คู่แข่งจึงถูกนำมาใช้เพื่อให้เราสามารถก้าวเข้ามาแข่งขันในตลาดธุรกิจนี้ได้ปลอดภัยมากขึ้น ประโยชน์ที่เห็นได้ชัด ๆ จากการวิเคราะห์คู่แข่งคือ
เพิ่มความเข้าใจตลาด
- เมื่อได้เริ่มหาข้อมูลวิเคราะห์คู่แข่งจะทำให้คุณมองเห็นภาพรวมของตลาดไปด้วย
- ช่วยให้เข้าใจแนวโน้มตลาด มองเห็นถึงกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่คู่แข่งของคุณนำมาใช้ในการดึงดูดลูกค้า ซึ่งคุณก็สามารถนำมาใช้พัฒนาเป็นกลยุทธ์ของตัวเองต่อได้เช่นกัน
รู้จุดแข็งและจุดอ่อนของคู่แข่ง
- เมื่อมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเอาไว้ในมือแล้วก็จะทำให้คุณรู้ว่าคู่แข่งของคุณมีจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างไรบ้าง
- ข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์สำหรับการพัฒนากลยุทธ์ของคุณเพื่อเสริมจุดแข็งของตัวเองและเจาะไปทางจุดอ่อนของคู่แข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ชิงส่วนแบ่งตลาดมาได้
- ถ้ามีกลยุทธ์ในการทำธุรกิจที่ดีและได้ผลตามที่วางเอาไว้ แน่นอนว่าส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งก็จะกลายเป็นของคุณแทน แต่จะนิ่งนอนใจแล้วทำเฉยไปเลยไม่ได้เพราะคู่แข่งก็จะพัฒนากลยุทธ์ขึ้นมาชิงส่วนแบ่งตลาดคืนกลับไปเช่นกัน
- ดังนั้นคุณจะต้องคอยตรวจสอบความเคลื่อนไหวของคู่แข่งอยู่เรื่อย ๆ และต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับทิศทางตลาดที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
การวิเคราะห์คู่แข่งจะช่วยให้คุณเห็นภาพรวมของตลาดที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ มองเห็นถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของคู่แข่ง และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ชิงส่วนแบ่งตลาดมาจากคู่แข่งได้
เทคนิคการวิเคราะห์คู่แข่งในตลาดเพื่อเริ่มต้นธุรกิจใหม่
เทคนิคการวิเคราะห์คู่แข่งในตลาดนี้ใช้ได้ทั้งผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มธุรกิจใหม่และผู้ที่อยู่ในธุรกิจเดิมอยู่แล้วแต่ต้องการปรับปรุงธุรกิจของตัวเองเพื่อให้มียอดขายหรือส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น สำหรับผู้ที่กำลังจะเปิดธุรกิจใหม่จะต้องทำการกำหนดคู่แข่งออกมาให้ได้ก่อนว่าต้องวิเคราะห์ใครบ้าง จากนั้นก็ต้องวิเคราะห์กันด้วยข้อมูลจริง สังเคราะห์แยกแยะประเด็นต่าง ๆ ออกมาตรวจสอบกันอย่างสมเหตุสมผล จากนั้นก็อย่าลืมติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวรอบตัวเอาไว้ตลอดเวลา โดยจะแบ่งวิธีวิเคราะห์คู่แข่งในตลาดออกมาได้เป็น 5 ข้อหลัก ๆ ดังนี้
1.กำหนดคู่แข่งให้เหมาะสมทั้งทางตรงและทางอ้อม
การกำหนดคู่แข่งที่นำมาวิเคราะห์จะต้องดูจากภาพรวมของธุรกิจและเลือกมาทั้งคู่แข่งทางตรง คู่แข่งทางอ้อม เพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมที่สุด
- คู่แข่งทางตรง คือธุรกิจที่มีสินค้าหรือบริการซึ่งใช้แทนที่สินค้าของคุณได้ ตัวอย่างเช่น Pizza Hut กับ The Pizza Company
- คู่แข่งทางอ้อม คือธุรกิจที่มีสินค้าหรือบริการซึ่งไม่ได้เหมือนกับของคุณ แต่ก็สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มเดียวกันหรือแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น KFC กับ Mc Donald
มาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนคงคิดว่าคู่แข่งทางตรงคือธุรกิจที่ต้องระวังมากที่สุด แต่ก็ห้ามประมาทกลุ่มคู่แข่งทางอ้อมด้วยเช่นกัน เพราะถ้าเราเผลอ ๆ คู่แข่งทางอ้อมเหล่านี้ก็อาจจะเป็นม้ามืดที่พัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้ดีกว่าธุรกิจของเราก็ได้เหมือนกัน
2.ใช้ SWOT เพื่อวิเคราะห์คู่แข่ง
- SWOT คือเครื่องมือที่นักลงทุนและเจ้าของกิจการต่าง ๆ มักนำมาใช้เมื่อต้องเริ่มต้นโปรเจ็คอะไรใหม่ ๆ
- SWOT จะทำให้มองเห็นภาพรวมแบบกว้าง ๆ และข้อมูลในเชิงประมาณค่อนข้างชัด โดย SWOT จะประกอบไปด้วยปัจจัยหลักที่ต้องคำนึงถึงคือ
SWOT คือเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินภาพรวมแบบกว้าง ๆ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ปรับปรุงกลยุทธ์การขายของคุณ โดยจะแบ่งออกมาเป็นการตรวจสอบจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของคู่แข่ง
- S : Strengths หรือจุดแข็ง ก็คือข้อดีของธุรกิจนั้น ตัวอย่างเช่น มีทุนเยอะ มีประสบการณ์ มีชื่อเสียง เป็นต้น
- W : Weakness หรือจุดอ่อน ก็คือข้อเสียของธุรกิจนั้น ตัวอย่างเช่น บุคลากรไม่มีความสามารถ ระบบการทำงานไม่ดี สินค้ามีราคาแพง เป็นต้น
- O : Opportunities หรือโอกาส ก็คือแนวโน้มหรือความเป็นไปได้ที่จะทำให้ธุรกิจนั้นเติบโตขึ้นหรือขายดีขึ้น ตัวอย่างเช่น อาจมีขายสินค้าที่เข้ากับเทศกาลที่กำลังจะมาถึง เป็นต้น
- T : Threats หรืออุปสรรค ก็คือแนวโน้มหรือความเป็นไปได้ที่จะทำให้ธุรกิจนั้นเจ๊งหรือมียอดขายน้อยลง ตัวอย่างเช่น อาจมีปัญหากับผู้คนในท้องถิ่น เป็นต้น
3.วิเคราะห์สินค้าและบริการของคู่แข่ง
- เมื่อมีข้อมูลที่เชื่อถือได้แล้วสิ่งแรกที่จะต้องนำมาวิเคราะห์กันก็คือสินค้าและบริการของคู่แข่งว่ามีรายละเอียดอย่างไร
- กลุ่มลูกค้าหลักคือกลุ่มไหน ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายังไง
- มีช่วงเวลาในการขายที่ดีที่สุดคือช่วงไหน อัตราการซื้อซ้ำของลูกค้ามีเท่าไหร่
- สินค้าที่ดีที่สุดหรือขายดีที่สุดคืออะไร ต้นทุนต่ำหรือสูงแค่ไหน
- หรืออาจจะตั้งคำถามอื่น ๆ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ให้ตรงตามแนวทางของตัวคุณเองก็ได้
- เมื่อวิเคราะห์รายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้ของคู่แข่งได้แล้วก็ต้องนำมาเปรียบเทียบกับธุรกิจของคุณด้วยว่าคุณต้องปรับปรุงในส่วนไหนบ้าง
การตั้งคำถามเพื่อวิเคราะห์คู่แข่งจะต้องตั้งคำถามให้ครบทุกมุมมอง ตัวอย่างเช่น คู่แข่งของคุณขายอะไร ขายได้เวลาไหนบ้าง ขายได้ที่ช่องทางไหน ทำไมถึงขายได้ มีวิธีการขายอย่างไร และกลุ่มลูกค้าคือใคร เป็นต้น
4.วิเคราะห์กลยุทธ์การขายและโปรโมชัน
- เมื่อมีการวิเคราะห์ต้นทุนราคาของคู่แข่งแล้วก็จะต้องตรวจสอบด้วยว่ากลยุทธ์การขายของคู่แข่งเป็นอย่างไร มีช่องทางการขายแบบไหน กี่ช่องทาง มีส่วนลดอะไรบ้าง มีการมอบหมายหน้าที่ให้พนักงานอย่างไร โปรโมชันในเวลาปกติและเทศกาลมีอะไรบ้าง
- ข้อมูลในส่วนนี้จะช่วยให้คุณวิเคราะห์ได้ว่าต่อไปคู่แข่งน่าจะขยายธุรกิจหรือลดขนาดลง รวมถึงยังนำมาใช้พัฒนากลยุทธ์การขายของตัวเองได้ อะไรที่น่าสนใจก็นำมาปรับใช้ อะไรที่คู่แข่งทำแล้วไม่คุ้มค่าก็ไม่ต้องนำมาใช้
- และจะต้องตรวจสอบถึงค่าใช้จ่ายแฝงอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำธุรกิจด้วย ตัวอย่างเช่น ค่าส่ง ค่ากล่อง ค่าอุปกรณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเครื่องปรุงที่นำมาใช้ เพราะรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ส่งผลต่อราคาขาย กำไร และอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ลูกค้าซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าได้ด้วยเช่นกัน
5.วิเคราะห์เครื่องมือหรือเทคโนโลยีของคู่แข่ง
- ทุกวันนี้ที่เทคโนโลยีต่าง ๆ พัฒนาอยู่ตลอดเวลา การตรวจสอบอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือเทคโนโลยีที่คู่แข่งใช้ก็จะช่วยให้ธุรกิจของคุณรันได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ในการผลิต เทคโนโลยีที่คู่แข่งใช้ทำการตลาด หรือจะเป็นช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่คู่แข่งมีว่าเสริมการทำธุรกิจของพวกเขาได้อย่างไร
- หลายครั้งที่การนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยลดต้นทุนแรงงาน ลดเวลาในการทำงาน และยังได้ประสิทธิภาพของงานที่ดีขึ้นด้วย ในส่วนของโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
- อาจไม่ได้ช่วยขายสินค้าหรือบริการโดยตรง แต่ก็เป็นการโปรโมตให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์ของพวกเขาได้ เป็นการสร้างโอกาสในการขายวิธีหนึ่งโดยการทำให้เกิดความคุ้นเคยและนำไปสู่การซื้อสินค้าในอนาคต
เทคโนโลยีก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณไปต่อได้ หากมีเทคโนโลยีที่ดีมาใช้ก็จะช่วยลดต้นทุน ลดเวลาในการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพของงานให้ดีขึ้น และยังใช้ในการโปรโมตให้ผู้คนรู้จักธุรกิจของคุณได้ด้วย
เทคนิคทั้ง 5 ข้อที่ได้กล่าวไปล้วนมีประโยชน์สำหรับการเริ่มต้นธุรกิจของคุณทั้งนั้น การปรับปรุงกลยุทธ์การขายของตัวเองก็ควรวางภาพลักษณ์องค์กรให้ชัดเจนด้วย เพราะภาพลักษณ์มีผลต่อการเข้าถึงของลูกค้า
การมีท่าทีที่เป็นมิตรและเข้าถึงง่ายทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์จะมีผลต่อยอดขายโดยตรง และอย่าลืมติดตามคู่แข่งเพื่อนำมาพัฒนากลยุทธ์การขายของตัวเองอยู่เสมอด้วยเพราะคู่แข่งของคุณก็ต้องพยายามพัฒนากลยุทธ์ของตัวเองอยู่ตลอดเพื่อส่วนแบ่งตลาดหรือยอดขายที่เพิ่มขึ้นเหมือนกัน และเมื่อมีธุรกิจของคุณเข้ามาอยู่ในตลาดเดียวกันแล้ว คุณก็จะกลายเป็นคู่แข่งที่พวกเขาจะต้องตรวจสอบด้วยเช่นกัน
หลังจากวิเคราะห์คู่แข่งแล้วต้องนำมาปรับใช้งานกับธุรกิจของตนเอง
- หลังจากที่ทำ Competitive Analysis หรือการวิเคราะห์คู่แข่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว อีกขั้นตอนที่ขาดไม่ได้คือการนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับใช้กับธุรกิจของคุณเอง
- ด้วยหลักการง่าย ๆ ที่อาจจะดูเหมือนโกงนิด ๆ คืออะไรที่คุณเห็นว่าคู่แข่งทำแล้วดีก็ให้นำมาปรับให้เป็นสไตล์ธุรกิจของคุณแล้วใช้ จุดไหนที่เสริมให้ดีกว่าได้ก็ทำ
- อะไรที่มองเห็นว่าเป็นจุดบอดที่คู่แข่งของคุณไม่ทันคิดก็รีบทำก่อนเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม ส่วนอะไรที่เห็นว่าเป็นจุดอ่อนหรือปัญหาที่คู่แข่งของคุณมีก็พยายามหาทางหลีกเลี่ยงหรือป้องกันล่วงหน้า
- และควรมีแผนสำรองอยู่เสมอเผื่อกรณีไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้น หากตรวจสอบคู่แข่ง วิเคราะห์ และวางกลยุทธ์ให้ธุรกิจของคุณได้อย่างรัดกุม แม้จะไม่สามารถรับประกันได้ 100% ว่าธุรกิจใหม่ของคุณจะประสบความสำเร็จ แต่อย่างน้อยก็จะมีโอกาสในการขายที่มากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน