การวิเคราะห์ตนเอง เพื่อการพัฒนาให้ถูกทางและอุดช่องโหว่ให้ถูกจุด

การวิเคราะห์ตนเอง เพื่อการพัฒนาให้ถูกทางและอุดช่องโหว่ให้ถูกจุด

การวิเคราะห์ตนเองเพื่อนำไปพัฒนาถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการวางแนวทางธุรกิจต่าง ๆ เพราะการรู้ข้อดีและข้อเสียของตัวเองก็จะช่วยให้วางกลยุทธ์ต่าง ๆ ได้อย่างรัดกุม ขั้นตอนหรือวิธีในการวิเคราะห์ตนเองก็มีอยู่หลายอย่าง มีหลายเทคนิคที่น่าสนใจ ถ้าสามารถวิเคราะห์แนวทางที่เหมาะสมแล้วพัฒนาตนเองขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพได้แล้วก็จะพาธุรกิจหรือหน้าที่การงานของคุณก้าวหน้าไปด้วยอย่างแน่นอน

การวิเคราะห์ตนเองคืออะไร ทำไมต้องวิเคราะห์ตนเอง

การวิเคราะห์ตนเองคือแนวทางที่ใช้ในการประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของตนทั้งในด้านการทำงาน สติปัญญา และอารมณ์ ซึ่งจะต้องใช้ปัจจัยและเทคนิคหลายอย่างเพื่อการเข้าใจความคิดและพฤติกรรมของตัวเอง ถ้ายังวิเคราะห์ตนเองออกมาไม่ได้ การพัฒนาก็จะทำไม่ได้ หรือถ้าดันทุรังทำไปก็จะพัฒนาออกมาไม่ถูกทาง

“การพัฒนาตนเองมีประโยชน์ในการทำงานอย่างไร?”

ดังนั้นการวิเคราะห์ตนเองจึงมีประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพต่าง ๆ อุดช่องโหว่ ลบจุดด้อย เสริมจุดเด่น และยังช่วยปรับอารมณ์ ปรับแนวคิดให้เหมาะสำหรับการทำธุรกิจหรือประกอบหน้าที่การงานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียนรู้และเข้าใจตัวเองเพื่อต่อยอดไปถึงอนาคตในแบบที่ต้องการ

ขั้นตอนการวิเคราะห์ตนเองเพื่อการพัฒนาอย่างถูกทาง

แม้การวิเคราะห์ตนเองเพื่อการพัฒนาจะไม่ได้มีกฎตายตัวว่าต้องทำอย่างไร แต่ก็จะต้องตั้งเป้าหมายอะไรบางอย่างขึ้นมาก่อนเพื่อให้มีแนวทางว่าจะพัฒนาตัวเองไปในด้านไหน หรือต้องการเพิ่มทักษะอะไรในชีวิต สำหรับการวิเคราะห์อย่างถูกต้องก็จะมีขั้นตอนสำคัญที่ควรทำตามดังนี้

หาทางเข้าใจพฤติกรรม

ขั้นตอนแรกในการวิเคราะห์ตนเองจะต้องพยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมของตนเองเพื่อค้นหาบุคลิกภาพ ค้นหาทัศนคติ อารมณ์ด้านบวกและด้านลบ ถนัดทำงานคนเดียวหรือเป็นทีม เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ได้มากแค่ไหน รวมไปถึงข้อมูลอื่น ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่อาจจะส่งผลในการทำงาน หรืออาจจะคัดเฉพาะพฤติกรรมที่มีผลต่อทักษะด้านที่ต้องการพัฒนาก็ได้

ค้นหากระบวนการคิด

เมื่อเข้าใจพฤติกรรมเบื้องต้นของตนเองแล้ว จากนั้นก็ต้องมองย้อนกลับไปว่าพฤติกรรมเหล่านั้นมาจากไหนเพื่อค้นหากระบวนการคิดของตัวเองว่าตอบสนองอย่างไรต่อเหตุการณ์แบบไหนบ้าง เพราะการกระทำทุกอย่างส่งผลมาจากกระบวนการคิด เมื่อค้นหากระบวนการคิดได้แล้วก็จะช่วยให้พัฒนาได้อย่างถูกทางว่าควรปรับปรุงหรือเสริมตรงไหนให้มีศักยภาพขึ้นได้บ้าง

รู้ทันอารมณ์ของตัวเอง

อารมณ์ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการคิดและพฤติกรรม ดังนั้นคุณจะต้องรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองอยู่เสมอ ต้องคอยตรวจสอบว่าเวลาทำอะไรบ้างแล้วจะรู้สึกดี รู้สึกแย่ โกรธ เศร้า เครียด หรืออารมณ์อื่น ๆ แล้วพยายามหาทางป้องกันไม่ให้อารมณ์เหล่านั้นมีผลต่อกระบวนการคิดและตัดสินใจของตัวเอง

ใช้ทัศนคติในเชิงบวก

เมื่อรู้ทันความคิดและอารมณ์ของตัวเองแล้วก็จะต้องพยายามปรับทัศนคติให้เป็นเชิงบวกอยู่เสมอ ต้องภูมิใจในความสามารถของตัวเอง คิดหาทางพัฒนาให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา เสริมจุดที่เด่นอยู่แล้วให้เด่นยิ่งขึ้น ปรับปรุงจุดด้อยให้กลายเป็นทักษะแบบกลาง ๆ เชื่อมั่นในความคิดของตัวเองแต่ก็ต้องเปิดกว้างสำหรับความคิดเห็นอื่นที่มีประโยชน์ เป็นต้น

เครื่องมือหรือเทคนิคที่มักนำมาใช้ในการวิเคราะห์ตนเองเพื่อการพัฒนานั้นส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้ SWOT Analysis เพราะเป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้ง่าย เหมาะสำหรับการเริ่มต้นวิเคราะห์ แต่ก็จะมีเทคนิคอื่น ๆ อีกหลายแบบที่ใช้แทนกันได้ ขึ้นอยู่กับว่าตัวของคุณเองถนัดหรือเหมาะกับเครื่องมือแบบไหน

SWOT Analysis คือเครื่องมือที่นักวางแผนมักจะนำมาใช้วิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ โดยจะดูกันที่ 4 องค์ประกอบหลักคือ Strength หรือจุดแข็ง Weakness หรือจุดอ่อน Opportunities หรือโอกาส และ Threats หรืออุปสรรค

การใช้ SWOT Analysis เพื่อวิเคราะห์ตนเอง

SWOT Analysis คือเครื่องมือที่นักวางแผนมักจะเลือกใช้ในการวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์การตลาด การบริหาร การดำเนินงานภายในองค์กร และยังใช้ได้กับสถานการณ์ในปัจจุบันหรือใช้วางแผนอื่นต่อไปในอนาคตก็ได้ ในเรื่องการพัฒนาตนเองก็นำ SWOT Analysis มาใช้ปรับใช้งานได้เช่นกัน โดย SWOT จะเป็นตัวย่อของ 4 องค์ประกอบดังนี้

S – Strength

S ย่อมาจาก Strength หรือจุดแข็ง หมายความว่าคุณจะต้องพิจารณาว่าตัวเองมีจุดเด่นอะไรบ้าง วิเคราะห์ความสามารถและทักษะต่าง ๆ ที่ตัวเองมีว่าทำอะไรได้ดี ทำอะไรได้ไว หรือมีความถนัดในด้านไหน แล้วพยายามพัฒนาจุดนี้ให้กลายมาเป็นจุดแข็งของตัวเอง หมั่นฝึกฝน ขัดเกลาให้แข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเป็นอาวุธหลักของคุณ

W – Weakness

W ย่อมาจาก Weakness หรือจุดอ่อน หมายความว่าคุณจะต้องพิจารณาว่าตัวเองมีจุดด้อยอะไรบ้าง อะไรที่ทำแล้วมักจะได้ผลลัพธ์ออกมาไม่ดี ไม่ถนัดการทำงานอะไร หรือไม่ชอบในเรื่องไหน จากนั้นก็วิเคราะห์ว่าจะปรับปรุงสิ่งนั้นได้อย่างไรบ้าง แต่การจะทำให้จุดด้อยกลายมาเป็นจุดเด่นอีกอย่างก็ทำได้ยาก ดังนั้นแค่ปรับให้จุดด้อยกลายเป็นความสามารถหรือทักษะแบบกลาง ๆ ได้ก็เพียงพอแล้ว

O – Opportunities

O ย่อมาจาก Opportunities หรือโอกาส ถ้าในเชิงการตลาดแล้วการมองหาโอกาสคือการพิจารณาว่าจะมีแนวทางหรือจังหวะอะไรบ้างที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณก้าวหน้าขึ้นได้ แต่สำหรับการพัฒนาตัวเองจะดูว่ามีปัจจัยภายนอกอะไรบ้างที่เอื้อต่อการพัฒนาความสามารถหรือทักษะต่าง ๆ ที่คุณมี และถ้ามองเห็นเมื่อไหร่ก็ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

T – Threats

T ย่อมาจาก Threats หรืออุปสรรค ในเชิงการตลาดจะเป็นการมองหาว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นตัวขัดขวางเป้าหมายธุรกิจของคุณบ้าง สำหรับการพัฒนาตัวเองก็คล้ายกันคือคุณจะต้องมองหาว่ามีปัจจัยอะไรเป็นตัวขัดขวางการพัฒนาหรือทำให้การพัฒนานั้นช้าลง ซึ่งจะต้องมองทั้งปัจจัยภายในและภายนอก เมื่อมองเห็นแล้วก็ต้องพยายามกำจัดหรือป้องกันอุปสรรคเหล่านั้นไม่ให้มีผลต่อการพัฒนาตัวเองของคุณ

ประโยชน์และข้อจำกัดของ SWOT Analysis

การวิเคราะห์ SWOT Analysis นั้นจะช่วยสะท้อนให้คุณเห็นปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการพัฒนาตัวเองอย่างรอบด้าน สามารถดึงจุดเด่นออกมาใช้ได้ ปรับปรุงจุดอ่อนให้แข็งแกร่งขึ้นได้ รู้ว่าควรจะนำปัจจัยอะไรมาใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาตัวเองและควรหลีกเลี่ยงอะไร และยังใช้งานได้ง่าย เหมาะสำหรับการเริ่มต้นวิเคราะห์ตนเองจาก 0

ประโยชน์ของการใช้ SWOT Analysis คือคุณจะเห็นปัจจัยต่าง ๆ แบบรอบด้าน และยังเป็นเทคนิคที่ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับการเริ่มต้นวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ แต่ก็จะมีข้อจำกัดคือ SWOT เป็นแค่การวิเคราะห์เริ่มต้นเท่านั้น ไม่สามารถบอกรายละเอียดเชิงลึกได้ และจะต้องเก็บข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อให้วิเคราะห์ได้ตรงจุด

แต่ก็ไม่ใช่ว่า SWOT Analysis จะใช้ทำได้ทุกอย่างโดยไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย เพราะ SWOT เป็นแค่การวิเคราะห์เพื่อการเริ่มต้นเท่านั้น ไม่สามารถลงรายละเอียดข้อมูลเชิงลึกกว่านี้ได้ และถ้าเก็บข้อมูลมาผิด SWOT ก็จะพาคุณไปผิดทางด้วยเช่นกัน

ดังนั้นการใช้ SWOT Analysis จะต้องมาควบคู่กับการเก็บข้อมูลอย่างละเอียด มีการตรวจสอบความถูกต้อง และจะต้องคอยติดตามข้อมูลใหม่อยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้มีข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ได้ตรงจุดมากที่สุด และจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายก่อนทุกครั้งว่าต้องการวิเคราะห์ไปเพื่อปรับปรุงหรือพัฒนาทักษะอะไรเพื่อให้สามารถหาข้อมูลได้อย่างตรงจุด

วิธีใช้งาน SWOT Analysis

การใช้งาน SWOT Analysis ควรมีการสะท้อนมุมมองจากบุคคลอื่นเพื่อความเห็นที่รอบด้าน เพราะบางครั้งการมองจุดแข็งหรือจุดอ่อนของตัวเองเป็นเรื่องยาก หลายครั้งตัวคนวิเคราะห์เองจะไม่รู้ข้อดีและข้อเสียของตัวเอง จึงควรมีคนอื่นที่ใกล้ชิดมาช่วยสะท้อนมุมมองต่าง ๆ ให้เห็นได้มากขึ้น โดยอาจจะเลือกจากคนใกล้ตัวที่รู้ความคิดและพฤติกรรมของตนเองดี ตัวอย่างเช่น หัวหน้างาน เพื่อนสนิท หรือครอบครัว เป็นต้น

การใช้งาน SWOT Analysis ควรมีบุคคลอื่นใกล้ตัวที่รู้จักคุณดีมาเป็นผู้สะท้อนมุมมองของตัวคุณ เพราะตัวเรามักจะมองไม่เห็นข้อดีและข้อด้อยของตัวเอง ในการเก็บข้อมูลให้เริ่มจากสถานการณ์ในปัจจุบันก่อน และควรวิเคราะห์อย่างน้อย 2 ครั้งเพื่อป้องกันความผิดพลาด

ถ้าต้องการวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้ในเชิงการตลาดหรือธุรกิจ ก็ควรมีมุมมองจากลูกค้าด้วยว่าพวกเขามองตัวคุณในแบบไหน และอาจจะมองจากคู่แข่งเพื่อเปรียบเทียบโอกาสและอุปสรรคต่าง ๆ ได้เพื่อให้มองเห็นปัจจัยที่ยังไม่เกิดขึ้นกับตัวของคุณเอง ในการวิเคราะห์ SWOT Analysis ควรเริ่มต้นทำจากสถานการณ์ในปัจจุบัน และควรวิเคราะห์อย่างน้อย 2 ครั้งเพื่อป้องกันความผิดพลาด

แนวทางในการใช้งาน SWOT Analysis

อย่างที่กล่าวไว้ว่าการใช้งาน SWOT Analysis ควรมีคนอื่นมาช่วยสะท้อนมุมมองหรือทำกันเป็นทีมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่รอบด้าน จากนั้นให้ตัวคุณเองลองประเมินด้วยว่าข้อมูลนั้นถูกต้องมากแค่ไหน โดยจะต้องคิดแบบไม่เข้าข้างตัวเอง ทุกอย่างต้องประเมินกันตามหลักเหตุและผลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำมากที่สุด

เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วจะต้องมีการจดบันทึกเอาไว้อย่างละเอียด แยกแยะข้อมูลแต่ละด้านเอาไว้อย่างชัดเจน จากนั้นก็เริ่มวิเคราะห์ในแต่ละปัจจัยอีกครั้งว่ามีความเป็นไปได้อะไรบ้างที่จะทำให้ทักษะตามเป้าหมายของคุณพัฒนาขึ้น

แนวทางในการใช้งาน SWOT คือการพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ แล้วนำมาปรับใช้กับการพัฒนาตัวเอง ซึ่งจะมีทั้งการหาจุดเด่นเพื่อนำมาต่อยอด การหาจุดด้อยเพื่อปรับปรุงแก้ไข การหาโอกาสที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาตัวเอง และการค้นหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่ทำให้การพัฒนาตัวเองล่าช้าแล้วกำจัดออกไป

– S หรือ Strength จะต้องดูว่าตัวของคุณเองมีจุดเด่นอะไรเพื่อนำมาต่อยอดให้กลายเป็นทักษะที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะในการคิดวิเคราะห์ ทักษะการจำ ทักษะการเข้าใจผู้อื่น หรือทักษะแบบไหนก็ได้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเป้าหมายที่คุณต้องการพัฒนาให้เหนือกว่าคนอื่น

– W หรือ Weakness จะต้องดูว่าตัวของคุณเองมีจุดด้อยอะไรที่ควรปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้กลายเป็นจุดบอดสำคัญในอนาคต ในส่วนนี้อาจจะลองเอาทักษะที่มีไปเปรียบเทียบกับคนอื่นดูก็ได้ว่าตัวของคุณเองทำแล้วได้ผลลัพธ์แตกต่างจากคนอื่นมากแค่ไหน ดีกว่าหรือแย่กว่าอย่างไร จากนั้นก็ค้นหาแนวทางในการปรับปรุงให้ดีขึ้นจนไม่เกิดผลเสียต่องาน

– O หรือ Opportunities จะต้องดูว่ารอบด้านของตัวคุณมีโอกาสอะไรบ้างที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นหรือง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น อาจจะมีคนช่วยสอนที่มีประสบการณ์ อาจจะมีคอร์สเรียนพัฒนาทักษะที่น่าสนใจ หรืออาจจะเป็นงานบางอย่างที่ทำให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเพิ่มทักษะที่ต้องการได้ เป็นต้น

– T หรือ Threats จะเป็นการมองว่ารอบตัวของคุณมีอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตัวเองบ้าง ตัวอย่างเช่น สภาพแวดล้อมบางอย่าง หรือแนวคิดบางอย่างที่เป็นเชิงลบ จากนั้นก็หาหนทางแก้ไขเพื่อให้ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านั้นลดลงหรือหมดไปเพื่อให้พัฒนาตัวเองต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สรุป : การวิเคราะห์ตนเอง เพื่อการพัฒนาให้ถูกทางและอุดช่องโหว่ให้ถูกจุด

การการวิเคราะห์ตนเองเพื่อการพัฒนาให้ถูกทางและอุดช่องโหว่ให้ถูกจุดนั้นสามารถทำได้หลายวิธี แต่การนำ SWOT Analysis มาใช้จะช่วยให้เริ่มต้นวิเคราะห์กันได้แบบรอบด้าน ถ้ามีคนรอบตัวที่รู้จักคุณดีมาช่วยสะท้อนพฤติกรรมต่าง ๆ ด้วยก็จะช่วยให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้นเพราะบางครั้งคนเราจะมองไม่เห็นข้อดีหรือข้อด้อยของตัวเอง

“ถ้าไม่มีกระจกสะท้อน คุณจะมองไม่เห็นตัวเอง”

เมื่อได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แล้วก็ต้องจดบันทึกเอาไว้เพื่อให้นำมาวางแผนวิเคราะห์กันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีประเด็นสำคัญตกหล่น เมื่อสามารถวิเคราะห์ออกมาได้แล้วว่ามีปัจจัยไหนที่ควรให้ความสำคัญบ้างก็ค่อย ๆ ดำเนินการไปเรื่อย ๆ หรือถ้ามีเครื่องมืออื่น ๆ นอกเหนือจาก SWOT Analysis ก็นำมาใช้ได้เช่นกัน หากต้องการศึกษาวิธีใช้งาน SWOT Analysis เพิ่มเติมก็สามารถดูจากวีดีโอ วิธีวิเคราะห์ SWOT Analysis ที่นี่ได้

การพัฒนาตัวเองนั้นไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ ทักษะบางอย่างอาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปีกว่าจะพัฒนาให้อยู่ในขั้นสูงได้ ดังนั้นจะต้องทำไปโดยไม่ย่อท้อ ไม่ลดละความพยายามจนกว่าความสำเร็จจะมาอยู่ในมือของคุณ