10 ขั้นตอนการเขียนแผนธุรกิจ พิชิตเงินล้าน

10 ขั้นตอนการเขียนแผนธุรกิจ พิชิตเงินล้าน

รวม 10 ขั้นตอนการเขียนแผนธุรกิจเพื่อพิชิตเงินล้านได้ไม่ยาก เพราะโครงสร้าง ภาพรวม และองค์ประกอบในการเขียนแผนธุรกิจนั้นมีความสำคัญสำหรับการเริ่มธุรกิจใหม่หรือการต่อยอดธุรกิจเดิม การวางแผนที่ละเอียดรัดกุมจะช่วยให้มีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน รู้วิธี รู้ผลลัพธ์แบบเป็นขั้นตอน และยังช่วยให้รับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

แผนธุรกิจคืออะไร?

แผนธุรกิจ หรือ Business Plan คือเอกสารที่ใช้ในการระบุรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจว่ามีจุดประสงค์ เป้าหมาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ วิธีดำเนินงาน รายละเอียดการเงิน และกลยุทธ์ต่าง ๆ เอาไว้อย่างไร

หรือพูดง่าย ๆ ว่าแผนธุรกิจจะบอกเอาไว้อย่างละเอียดเลยว่าใครต้องทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร เพื่ออะไร และมีกำหนดเวลาเอาไว้เท่าไหร่เพื่อให้สำเร็จถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ แผนธุรกิจจึงมักถูกนำมาใช้เป็น Roadmap ในการดำเนินธุรกิจและมักถูกใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการยื่นขอสินเชื่อต่าง ๆ อีกด้วย

ความสำคัญของการเขียนแผนธุรกิจ

ชื่อของแผนธุรกิจก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นแผนที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นจึงมีรายละเอียดต่าง ๆ ของธุรกิจนั้นเอาไว้อย่างครบถ้วน จึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะความสำคัญของแผนธุรกิจ 4 ข้อดังนี้

การเขียนแผนธุรกิจมีประโยชน์หลัก ๆ คือสามารถทำให้เห็นภาพรวมของธุรกิจได้ง่าย ช่วยให้วางกลยุทธ์ธุรกิจได้ง่าย วัดผลลัพธ์ได้ง่าย และยังใช้เป็นเอกสารอ้างอิงสำหรับการยื่นขอสินเชื่อหรือเสนอนายทุนต่าง ๆ ได้อีกด้วย

1. ช่วยให้เห็นภาพรวม เพราะแผนธุรกิจจะบอกขั้นตอนและวิธีดำเนินธุรกิจเอาไว้ รวมไปถึงโครงสร้างของรายได้และรายจ่ายทั้งหมด จึงนำมาใช้เป็นแผนที่หรือ Roadmap สำหรับการทำธุรกิจได้เลย

2. ช่วยในการวางกลยุทธ์ เพราะการคิดแผนธุรกิจจะต้องวางจุดประสงค์และเป้าหมายเอาไว้อย่างชัดเจน การวางกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายจึงทำได้ง่าย ไล่ความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก

3. วัดผลลัพธ์ได้ง่าย แผนธุรกิจจะช่วยให้รู้ว่าธุรกิจของคุณกำลังดำเนินการอยู่ในขั้นตอนไหน อยู่ในส่วนไหนของตลาด จึงง่ายต่อการกำหนดวิธีวัดผลลัพธ์ในการดำเนินงาน

4. ใช้เป็นเอกสารอ้างอิง เนื่องจากแผนธุรกิจจะมีรายละเอียดทุกอย่างในการดำเนินงานครบถ้วน จึงเหมาะสำหรับการใช้เป็นเอกสารอ้างอิงเพื่อขอระดมทุน ขอสินเชื่อ หรือใช้เพื่ออธิบายธุรกิจของคุณให้นายทุนเข้าใจได้ง่าย

รวมโครงสร้างและ 10 องค์ประกอบการเขียนแผนธุรกิจที่ต้องรู้

ในการเขียนแผนธุรกิจที่ถูกต้องจะต้องมี โครงสร้างและองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ชัดเจนจึงจะนำไปใช้งานจริงได้ ถ้ามีแผนธุรกิจที่ชัดเจนมากเพียงพอก็สามารถตั้งเป้าหมายเงินล้านได้จริงเช่นกัน โดยทั่วไปแล้วขั้นตอนในการเขียนแผนธุรกิจจะมีองค์ประกอบที่สำคัญทั้งหมด 10 อย่างดังนี้

1. บทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary)

2. คำอธิบายธุรกิจ (Company Description)

3. การวิจัยตลาด (Market Analysis)

4. รายละเอียดองค์กรและการจัดการ (Organization and Management)

5. คำอธิบายสินค้าและบริการ (Service or Product Line)

6. แผนการตลาดและการขาย (Marketing and Sales)

7. รายละเอียดเงินลงทุน (Funding Request)

8. แผนการเงิน (Financial Projections)

9. ภาคผนวก (Appendix)

10. แผนฉุกเฉิน (Emergency Plan)

องค์ประกอบของแผนธุรกิจ 5 อย่างแรกคือ บทสรุปผู้บริหารซึ่งเป็นการเขียนภาพรวมของธุรกิจทั้งหมด คำอธิบายธุรกิจซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่าธุรกิจของคุณทำอะไร การวิจัยตลาดซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ตลาดที่ลงทุน รายละเอียดองค์กรและการจัดการซึ่งเป็นการบอกหน้าที่และตำแหน่งของทีมงาน คำอธิบายสินค้าและบริการซึ่งจะบอกว่าสินค้าหรือบริการของคุณคืออะไร ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้อย่างไร

1. บทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary)

บทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary) เป็นการเขียนบทสรุปของภาพรวมธุรกิจและแผนการทำงานแบบคร่าว ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย โดยทั่วไปมักจะเขียนในส่วนนี้แค่ไม่เกิน 1-3 หน้าเท่านั้น อาจจะนำมาเขียนเป็นอย่างสุดท้ายก็ได้เพราะต้องเขียนข้อมูลธุรกิจทุกส่วน การเขียนจะต้องกระชับ ดึงมาแค่ใจความสำคัญ แต่จะต้องอ่านแล้วเข้าใจง่าย เห็นภาพตามได้

เนื้อหาหลัก ๆ ของส่วนนี้จะพูดถึงธุรกิจของคุณว่าทำอะไร เพื่ออะไร เป้าหมายอย่างไร มีสินค้าแบบไหน กลุ่มเป้าหมายคือใคร รวมถึงข้อมูลการเงินว่าได้เงินทุนมาจากไหน เท่าไหร่ คาดการณ์รายได้ไว้เท่าไหร่ ตอนนี้ธุรกิจอยู่ส่วนไหนของตลาดและมีคู่แข่งคือใคร เป็นต้น

2. คำอธิบายธุรกิจ (Company Description)

คำอธิบายธุรกิจ (Company Description) จะเป็นการบอกว่าธุรกิจของคุณทำอะไรบ้าง ขายสินค้าหรือบริการแบบไหน ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้วยวิธีไหน มีกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าคือใคร มีผู้เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียคือบริษัทไหนบ้าง เป้าหมายของธุรกิจคืออะไร มีวิธีเข้าหาลูกค้าแบบไหน และอาจจะเขียนจุดเด่นของธุรกิจคุณลงไปในส่วนนี้ด้วยก็ได้

3. การวิจัยตลาด (Market Analysis)

การวิจัยตลาด (Market Analysis) เป็นข้อมูลจากการที่ได้ไปศึกษาและวิเคราะห์ตลาดมาแล้วว่าตลาดของธุรกิจเราใหญ่แค่ไหน เราอยู่ส่วนไหนของตลาด กลุ่มเป้าหมายคือใคร ต้องการสินค้าแบบไหน กระแสในช่วงนั้นคืออะไร อัตราการเติบโตของธุรกิจน่าจะเป็นอย่างไร โอกาสและอุปสรรคในการทำธุรกิจเป็นแบบไหน รวมถึงจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ของคู่แข่งมาด้วยว่ามีจุดเด่น จุดด้อย ยอดขาย และกลุ่มลูกค้าเป็นใครเพื่อหาวิธีเอาชนะ

4. รายละเอียดองค์กรและการจัดการ (Organization and Management)

รายละเอียดองค์กรและการจัดการ (Organization and Management) จะเป็นการบอกรายละเอียดของโครงสร้างบริษัทว่าใครทำงานอะไรบ้างในทุกตำแหน่ง ถ้ามีการร่วมงานกับบริษัทอื่นก็ต้องลงข้อมูลในส่วนนั้นด้วยเช่นกัน การทำรายละเอียดองค์กรมักจะสร้างเป็นผังองค์กร (Organization Chart) ขึ้นมาเพื่อให้เห็นโครงสร้างได้ง่ายว่าใครอยู่ในส่วนไหน มีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งไหนบ้าง

นอกจากนี้จะต้องอธิบายถึงข้อมูลเบื้องต้นของธุรกิจด้วยว่าเป็นธุรกิจประเภทไหน มีรูปแบบอย่างไร กลุ่มเป้าหมายคือใคร กลยุทธ์เป็นแบบไหน มีความเป็นมาอย่างไร จุดเด่น จุดด้อยคืออะไร และอาจจะมีตัวชี้วัดหรือรายละเอียดอื่น ๆ ที่จะทำให้เข้าใจธุรกิจของคุณได้ดีขึ้น

5. คำอธิบายสินค้าและบริการ (Service or Product Line)

คำอธิบายสินค้าและบริการ (Service or Product Line) เป็นการอธิบายว่าขายสินค้าหรือบริการแบบไหน มีวิธีใช้งานอย่างไร ผู้ซื้อจะได้ประโยชน์อะไร สินค้าจะตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร ซึ่งจะต้องระบุที่มาของสินค้า ต้นทุน ราคาขาย กับกำไรที่ได้จากสินค้ามาให้ชัดเจนด้วย

สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีสินค้าเยอะ ๆ อาจจะทำข้อมูลส่วนนี้เป็นข้อมูลรวมทั้งหมวดหมู่สินค้าแทนก็ได้ รวมถึงควรมีการระบุสินค้าขายดี สินค้ากำไรสูง หรือตลาดในตอนนี้กำลังมีกระแสแบบไหน ซึ่งข้อมูลสามารถนำไปใช้พัฒนากลยุทธ์หรือแผนการผลิตต่อได้

องค์ประกอบของแผนธุรกิจ 5 อย่างถัดมาคือแผนการตลาดและการขายซึ่งจะบอกกลยุทธ์ที่ใช้ทั้งหมด รายละเอียดเงินลงทุนซึ่งจะบอกแหล่งที่มาและจำนวนเงินทุน แผนการเงินซึ่งจะบอกรายละเอียดรายรับ-รายจ่าย และวิธีใช้เงินทุนทั้งหมด ภาคผนวกซึ่งเป็นการแนบเอกสารหรือข้อมูลจากส่วนอื่น ๆ เพิ่มเติม และแผนฉุกเฉินซึ่งใช้ในกรณีที่แผนหลักมีปัญหา

6. แผนการตลาดและการขาย (Marketing and Sales)

แผนการตลาดและการขาย (Marketing and Sales) จะเป็นส่วนของการให้รายละเอียดเรื่องราคาและกลยุทธ์ที่ใช้ในการขาย ต้องมีการระบุกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน กลยุทธ์ทางการขาย กลยุทธ์ในการตั้งราคา กลยุทธ์ส่งเสริมการขาย เป้าหมายที่ต้องการ วิธีประเมินผล และควรคาดการณ์เอาไว้ด้วยว่าจะได้ยอดมากแค่ไหน โดยระบุข้อมูลเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง เช่น ต่อเดือน หรือต่อไตรมาส เป็นต้น

7. รายละเอียดเงินลงทุน (Funding Request)

รายละเอียดเงินลงทุน (Funding Request) จะเป็นการระบุแหล่งที่มาของเงินทุนอย่างละเอียดว่าได้มาจากไหน เป็นเงินทุนของตัวเอง เงินจากนายทุน การระดมทุน หรือมีการกู้ยืมมาเพื่อการลงทุน รวมถึงจะต้องระบุเงินที่ได้จากแต่ละแหล่งมาอย่างละเอียด

ข้อมูลของเงินทุนควรมีความสอดคล้องกับเป้าหมายของธุรกิจด้วยว่าควรต้องใช้เท่าไหร่เพื่อให้ได้ยอดขายหรือเป้าหมายแบบไหน เป้าหมายในการใช้เงินทุนอาจไม่ใช่แค่ผลประกอบการที่ดีเสมอไป อาจจะระบุเป้าหมายเป็นการขยายกิจการหรือเป้าหมายอื่นก็ได้

8. แผนการเงิน (Financial Projections)

แผนการเงิน (Financial Projections) ข้อมูลส่วนนี้จะมีความละเอียดสูง อาจจะต้องมีการศึกษาเรื่องวิธีเขียนงบประมาณ การทำงบดุล และเอกสารการเงินอื่น ๆ เพิ่มเติม และอาจจะนำเครื่องมือต่าง ๆ มาช่วยในการคำนวณได้ ซึ่งข้อมูลหลัก ๆ จะเป็นการคาดการณ์ผลประกอบการ จุดคุ้มทุน แผนการลงทุน แหล่งเงินทุน วิธีบริหารรายรับ-รายจ่าย กระแสเงินสด โดยสามารถแบ่งข้อมูลออกมาได้เป็น 2 ส่วนดังนี้

8.1 สถานการณ์การเงินปัจจุบัน จะมีรายละเอียดเช่น เงินทุน รายรับ รายจ่าย เงินหมุน หรือข้อมูลการเงินอื่น ๆ ที่จะบอกถึงสถานการณ์การเงินในปัจจุบันได้

8.2 การวิเคราะห์ด้านการเงิน เป็นการคาดการณ์ผลกำไร-ขาดทุน งบดุล งบกระแสเงินสด หรือข้อมูลอื่น ๆ ที่จะใช้ในการวิเคราะห์ทิศทางของธุรกิจในอนาคต

9. ภาคผนวก (Appendix)

ภาคผนวก (Appendix) จะเป็นการระบุข้อมูลหรือแนบเอกสารประกอบเพิ่มเติมที่ไม่ได้ใส่เอาไว้ในส่วนอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงหรือบอกข้อมูลเชิงลึกสำหรับส่วนนั้น โดยทั่วไปแล้วข้อมูลในภาคผนวกมักถูกใช้ในการสนับสนุนข้อมูล เพิ่มความน่าเชื่อถือ เพิ่มความน่าสนใจ หรือใช้ในการอ้างอิงเพื่อขอสินเชื่อต่าง ๆ สำหรับธุรกิจ

ตัวอย่างของเอกสารที่มักจะใช้แนบในภาคผนวกก็เช่น ใบอนุญาตประกอบกิจการ ใบจดทะเบียนการค้า ผลการวิจัย งบการเงิน สัญญา หรือเอกสารทางกฎหมายต่าง ๆ รายละเอียดสินค้าหรือบริการที่มีความยาวมาก ๆ เป็นต้น

10. แผนฉุกเฉิน (Emergency Plan)

แผนฉุกเฉิน (Emergency Plan) เป็นแผนสำรองที่มีเอาไว้ในกรณีที่แผนหลักมีปัญหาหรือไม่สามารถทำตามแผนหลักได้ ซึ่งจะต้องระบุแนวทางการรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดขนาดกิจการ การกระตุ้นยอดขาย การจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ หรืออะไรก็ได้ที่คาดการณ์เอาไว้ว่าจะช่วยให้ธุรกิจผ่านปัญหานั้นไปได้

แผนฉุกเฉินหรือแผนสำรองนั้นควรมีการระบุวิธีฟื้นฟูธุรกิจของคุณหลังจากที่ผ่านปัญหาไปได้แล้วเอาไว้ด้วย และควรมีแผนฉุกเฉินเอาไว้อย่างน้อย 2-3 แผน เพื่อให้ครอบคลุมปัญหาหรือเหตุไม่คาดฝันต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา

การเขียนแผนธุรกิจไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของผู้ประกอบการทุกคน เพียงแต่ถ้ายังไม่คุ้นเคยก็อาจต้องมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมมาบ้างเพื่อให้เขียนได้อย่างถูกต้อง และจะต้องมีความละเอียดรอบคอบ เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างรอบด้าน เมื่อนำแผนธุรกิจไปใช้ก็จะมีประสิทธิภาพ สามารถใช้งานได้จริงไม่ว่าจะนำมาปรับกรุงกลยุทธ์ธุรกิจหรือใช้เป็นเอกสารอ้างอิงกับนายทุนก็ตาม และคุณยังสามารถดาวน์โหลด แบบฟอร์มแผนธุรกิจ จากเราได้เลย

ใช้ SWOT Analysis ช่วยเขียนแผนธุรกิจได้

เพราะการเขียนแผนธุรกิจจะต้องมีการวิเคราะห์ทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคแบบเดียวกับหลักการของ SWOT Analysis ดังนั้นจึงสามารถนำ SWOT มาใช้ประกอบการเขียนแผนธุรกิจได้ โดยจะประกอบไปด้วย 4 ปัจจัยดังนี้

SWOT Analysis สามารถใช้ในการช่วยเขียนแผนธุรกิจได้ โดย Strength หรือจุดแข็งจะเป็นการวิเคราะห์หาจุดเด่นของธุรกิจเพื่อนำมาใช้เป็นพื้นฐานการดำเนินงาน และ Weakness หรือจุดอ่อนจะเป็นการวิเคราะห์หาข้อด้อยแล้วพยายามหลีกเลี่ยงการสร้างกลยุทธ์ในส่วนนี้ตรง ๆ เพื่อไม่ให้เสียทรัพยากรไปอย่างไร้ประโยชน์เพราะคู่แข่งของคุณจะทำได้ดีกว่า

S : Strength หรือจุดแข็ง เป็นการวิเคราะห์ว่าธุรกิจของคุณนั้นมีจุดเด่นอะไรที่เหนือกว่าคู่แข่ง และจะนำข้อมูลในส่วนนี้มาพัฒนาเพื่อเป็นพื้นฐานในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประสบการณ์ จำนวนฐานลูกค้า เงินลงทุน ความเชี่ยวชาญของพนักงาน สถานที่ตั้งร้าน เป็นต้น

W : Weakness หรือจุดอ่อน เป็นการวิเคราะห์ว่าธุรกิจของคุณนั้นมีจุดไหนที่ด้อยกว่าคู่แข่ง และจะหลีกเลี่ยงการทำธุรกิจที่ต้องใช้จุดนั้นเพื่อไม่ให้ต้องเสียเวลาและทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ให้หาทางปรับปรุงการทำงานเพื่อทดแทนจุดด้อยนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าพนักงานมีน้อยกว่าคู่แข่งก็อาจจะใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนในการผลิต หรือขายของผ่านระบบออนไลน์ที่ใช้พนักงานน้อยกว่าแทน เป็นต้น

สำหรับ Opportunity หรือโอกาสจะเป็นการวิเคราะห์หาปัจจัยภายนอกที่เป็นผลดีกับธุรกิจแล้วนำมาใช้ ส่วน Threats หรืออุปสรรคจะเป็นการวิเคราะห์หาปัจจัยภายนอกที่เป็นผลเสียต่อธุรกิจแล้วพัฒนากลยุทธ์ขึ้นมาเพื่อรับมือกับปัญหานั้น

O : Opportunity หรือโอกาส เป็นการวิเคราะห์หาปัจจัยภายนอกที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ถ้ารัฐบาลมีการขึ้นภาษีน้ำตาล ก็จะเป็นผลดีต่อธุรกิจที่ผลิตสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เป็นต้น

T : Threats หรืออุปสรรค เป็นการวิเคราะห์หาปัจจัยภายนอกที่เกิดผลเสียต่อธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ถ้ารัฐบาลมีการขึ้นภาษีน้ำตาล ธุรกิจที่ผลิตน้ำอัดลมหรือขนมต่าง ๆ ก็จะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น หลังจากนั้นก็ต้องหาวิธีรับมือกับอุปสรรคนี้โดยอาจสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เป็นต้น

หากคุณต้องการวิธีวิเคราะห์ SWOT Analysis อย่างละเอียดก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากวีดีโอการใช้ SWOT ลบจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง

ตัวอย่างการเขียนแผนธุรกิจ

การเขียนแผนธุรกิจก็อาจจะเริ่มต้นจากการคิดว่าธุรกิจของเราต้องการทำอะไรก่อน ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการทำธุรกิจชานมไข่มุก ก็อาจจะเขียนได้ดังนี้

ตัวอย่างในการเขียนแผนธุรกิจ : ถ้าต้องการทำร้านชานมไข่มุกเงินล้าน ก็จะต้องวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ แล้วบันทึกข้อมูลลงแผนทีละขั้นตอน โดยอาจจะเก็บภาคผนวกเอาไว้ทำทีหลังได้ เพราะเป็นส่วนที่ต้องใส่รายละเอียดเพิ่มเติมมาจากส่วนอื่น ๆ และนำบทสรุปผู้บริหารมาเขียนทีหลังสุดเพราะต้องใช้ข้อมูลจากทุกส่วนมาประกอบกัน

บทสรุปผู้บริหาร

ร้านชานมไข่มุกเงินล้าน เป็นแบรนด์สำหรับคนรุ่นใหม่ เน้นความแปลกใหม่และการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก สามารถเติมท็อปปิ้งได้ ไม่ใส่สารกันบูด ทำสดใหม่ทุกวัน

กลยุทธ์ที่ใช้ :

– คิดค้นสูตรเครื่องดื่มที่หลากหลาย ดื่มง่าย

– ไข่มุกต้มสดใหม่ทุกวัน

– บรรจุภัณฑ์สีสันสดใส ดูทันสมัย พกพาง่าย

– สร้างแบรนด์ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์

– มีแก้วให้สะสม

เป้าหมายหลัก :

– สร้างฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพฯและปริมณทล

– สร้างยอดขายเพิ่มปีละ 15%

คำอธิบายธุรกิจ

ชื่อธุรกิจ : ชานมไข่มุกเงินล้าน

ประเภทธุรกิจ : ผลิตและจำหน่ายชานมไข่มุก

สินค้า :

– ชาไทย

– ชาไต้หวัน

– กาแฟ

– โกโก้

– เครื่องดื่มผสมโซดา

– ไข่มุก

– บุก

– เจลลี่

กลุ่มเป้าหมาย :

– ผู้ที่ชื่นชอบการดื่มชานม

– กลุ่มวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา

จุดเด่น :

– ใช้วัตถุดิบหลักจากธรรมชาติ

– ชงสดใหม่ทุกแก้ว

– มีรสชาติที่หลากหลาย เติมท็อปปิ้งได้

– บรรจุภัณฑ์แน่นหนา พกพาสะดวก

– แบรนด์ทันสมัย เข้าถึงทุกเพศทุกวัย

การวิจัยตลาด

ตลาดชานมไข่มุก :

– เป็นตลาดใหญ่ที่ยังเติบโตขึ้นได้อีก

– มีผู้บริโภคจำนวนมากทุกวัน

– คู่แข่งเยอะ แต่ส่วนมากจะไม่มีท็อปปิ้ง

โอกาส :

– ในพื้นที่ยังไม่มีร้านชานมไข่มุก

– มีฐานลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์

– กลุ่มลูกค้าเป็นวัยรุ่นที่กำลังนิยมชานมไข่มุก

อุปสรรค :

– มีการแข่งขันสูง

– สินค้ามีอายุสั้น

– ต้องใช้วัตถุดิบหลายอย่าง

รายละเอียดองค์กรและการจัดการ

แผนผังที่ตั้งกิจการ :

แผนภูมิโครงสร้างองค์กร :

รายละเอียดการจ้างงาน :

– กิจการมีพนักงานทั้งหมด ….. คน

ทีมพัฒนาสินค้า ….. คน ค่าจ้างรวม ….. บาทต่อเดือน

ทีมผลิต ….. คน ค่าจ้างรวม ….. บาทต่อเดือน

ทีมการตลาด ….. คน ค่าจ้างรวม ….. บาทต่อเดือน

ทีมขาย ….. คน ค่าจ้างรวม ….. บาทต่อเดือน

– ค่าจ้างรวมทั้งหมด ….. บาทต่อเดือน

– ในส่วนนี้ถ้ามีแผนในการเพิ่มจำนวนพนักงานก็ต้องทำการเปรียบเทียบด้วยว่าเมื่อเพิ่มพนักงานมาแล้วจะมีค่าใช้จ่ายที่คาดการณ์เอาไว้เดือนละเท่าไหร่

คำอธิบายสินค้าและบริการ

ประเภทสินค้า : เครื่องดื่ม

รายการสินค้า 

– ชาไทย

– ชาไต้หวัน

– กาแฟ

– โกโก้

– เครื่องดื่มผสมโซดา

– ไข่มุก

– บุก

– เจลลี่

กระบวนการผลิต 

– คุณภาพการผลิตตรงตามมาตรฐานสากล

– วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ

แผนการตลาดและการขาย

กลยุทธ์ 

– ที่ตั้งกิจการอยู่ในแหล่งที่วัยรุ่นสัญจร

– มีเครื่องดื่มให้เลือกหลากหลาย สีสันสดใส

– บรรจุภัณฑ์ทันสมัย สวยงาม พกพาง่าย

– มีแก้วให้เลือกสะสม

– สามารถเลือกท็อปปิ้งได้

– สร้างแบรนด์ผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์

ช่องทางจำหน่าย 

– หน้าร้านออฟไลน์

– ช่องทางออนไลน์

กิจกรรมส่งเสริมการขาย 

– คูปองสะสมแต้มแลกเครื่องดื่มฟรี

– โปรโมชั่นลดราคา

– กิจกรรมพิเศษบนโซเชียลมีเดีย

รายละเอียดเงินลงทุน

แหล่งที่มาของเงินทุน :

– เงินทุนส่วนตัวจำนวน 150,000 บาท

– สินเชื่อจาก ….. จำนวน 400,000 บาท

– จำนวนเงินทุนรวมทั้งหมด 550,000 บาท

แผนการเงิน

การลงทุน 

– เครื่องจักรในการผลิต

– บรรจุภัณฑ์

– ค่าใช้จ่ายทำการตลาด

ที่มารายได้ 

– ยอดขายเครื่องดื่ม

– ยอดขายสินค้าอื่น

จุดคุ้มทุน : 2 ปี

ผลตอบแทน : 20% ต่อปี

ภาคผนวก

– ใบจดทะเบียนการค้า

– ใบรับรองคุณภาพสินค้า

– รายละเอียดการวิจัยตลาด

– ข้อมูลบริษัทคู่ค้า

– สัญญาสินเชื่อ

– รายละเอียดแก้วที่ใช้สะสม

แผนฉุกเฉิน

ความเสี่ยงของร้านชานมไข่มุกเงินล้านคือการแข่งขันในตลาดมีสูงโดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ สินค้ามีอายุสั้น กระแสเปลี่ยนไว และจะต้องรอวัตถุดิบจากต่างประเทศ แผนฉุกเฉินจึงต้องมีทั้งการเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้า การคิดค้นสินค้าใหม่ และการออกโปรโมชั่นใหม่มาดึงดูดใจกลุ่มลูกค้าโดยเน้นวัยรุ่นและวัยทำงาน

รายละเอียดแผนสำรองที่ 1 :

รายละเอียดแผนสำรองที่ 2 :

รายละเอียดแผนสำรองที่ 3 :

บทสรุป : โครงสร้าง ภาพรวม และองค์ประกอบการเขียนแผนธุรกิจ ต้องรู้อะไรบ้าง

หลังจากที่ได้รู้กันไปแล้วว่าโครงสร้าง ภาพรวม และองค์ประกอบ 10 ข้อในการเขียนแผนธุรกิจเพื่อพิชิตเงินล้านต้องรู้อะไรบ้าง มีอะไรที่สำคัญบ้าง การจะเขียนแผนธุรกิจให้รัดกุมก็จะต้องศึกษาข้อมูลมาก่อนให้รอบด้าน ต้องวิเคราะห์ทั้งธุรกิจของตัวเองและของคู่แข่งเพื่อหาจุดแข็ง-จุดอ่อน และจะต้องวิเคราะห์ตลาดเพื่อมองหาโอกาสและอุปสรรคที่สามารถใช้ในการปรับปรุงธุรกิจได้

ถ้าแผนธุรกิจมีความละเอียดมากเพียงพอก็จะช่วยให้คุณมองธุรกิจของตัวเองได้อย่างทะลุปรุโปร่งว่ายังมีจุดไหนควรปรับ จุดไหนควรเสริม และยังนำแผนธุรกิจนั้นมาใช้อ้างอิงกับนายทุนหรือใช้ในการยื่นสินเชื่อต่าง ๆ เพื่อนำมาเพิ่มทุนให้กับธุรกิจได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งการวิเคราะห์หาจุดเด่นและจุดด้อยก็นำ SWOT Analysis มาใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ได้ หากรู้จุดเด่นของธุรกิจตัวเองดี มีแนวทางในการพัฒนา และสามารถปรับปรุงจุดด้อยมาได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วการพิชิตเงินล้านด้วยธุรกิจใหม่ก็จะไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไป

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *