การสร้างเป้าหมายที่ชัดเจนก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีการเพื่อเพิ่มโอกาสรับสินเชื่อได้เช่นกัน เพราะธนาคารหรือสถาบันการเงินจะต้องประเมินความเสี่ยงหรือความสามารถของผู้ขอรับสินเชื่อหลายอย่าง ถ้าทางธนาคารมองเห็นว่าธุรกิจของคุณมีโอกาสประสบความสำเร็จได้จริง การขอสินเชื่อก็จะผ่านอนุมัติง่ายตามไปด้วย
สินเชื่อมีประโยชน์สำหรับธุรกิจของคุณอย่างไร
สินเชื่อทางธุรกิจก็คือการที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินให้เงินทุนกับผู้ขอสินเชื่อเพื่อให้นำมาใช้ทำธุรกิจตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ โดยมีข้อกำหนดในการชดใช้หนี้สินตามระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจนี้ก็เป็นได้ทั้งการขยายกิจการ การนำมาใช้จ่ายทั่วไปในการดำเนินงาน หรือจะใช้เพื่อลงทุนเชิงกลยุทธ์ก็ได้
สินเชื่อจึงมีประโยชน์สำหรับธุรกิจของในหลายด้าน เพราะเป็นการให้เงินทุนมาเพื่อทำธุรกิจของคุณโดยตรง ไม่ว่าจะใช้เพื่อการขยายกิจการ การทำโปรเจ็คสินค้าใหม่ หรือนำมาใช้จัดการกระแสเงินสดในการดำเนินงานทั่วไปก็ทำได้ง่ายขึ้น มีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันก็มีสินเชื่อหลายแบบให้เลือกเพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลาย
สินเชื่อจะช่วยจัดการความเสี่ยงของธุรกิจได้เป็นอย่างดี แม้ในเวลาที่ธุรกิจกำลังมีปัญหา การได้รับสินเชื่อก็จะช่วยให้ความผันผวนของกระแสเงินสดน้อยลง มีเงินหมุนเวียนในการดำเนินกิจการมากขึ้น สร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่งและยังนำมาใช้ลงทุนกับทีมงานหรือเครื่องมือในการทำงานต่าง ๆ ได้จนเกิดเป็นประโยชน์ในระยะยาว
ธนาคารใช้หลักอะไรในการพิจารณาสินเชื่อ
หลักที่ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินจะนำมาใช้ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อก็มีอยู่หลายอย่าง แม้สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป แต่ก็จะมีปัจจัยหลักอยู่ 3 อย่างที่จะใช้ในการพิจารณาเหมือนกัน ได้แก่
1. นโยบายของทางสถาบัน
นโยบายของสถาบันการเงินหรือธนาคารแต่ละแห่งจะถูกกำหนดเอาไว้ไม่เหมือนกัน ถ้าไม่มีการตรวจสอบนโยบายต่าง ๆ เหล่านี้มาก่อนก็อาจจะทำให้ขอสินเชื่อไม่ผ่านได้ง่าย ตัวอย่างเช่น สถาบันการเงินบางแห่งอาจกำหนดอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ขอสินเชื่อที่ไม่มีประวัติค้างชำระอย่างน้อยในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง หรืออาจไม่อนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ที่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงบางอาชีพ เป็นต้น
2. วัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อ
เนื่องจากเงื่อนไขของสินเชื่อที่สถาบันการเงินหรือธนาคารแต่ละแห่งกำหนดเอาไว้จะไม่เหมือนกัน ดังนั้นวัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อบางอย่างอาจไม่ถูกอนุมัติ ตัวอย่างเช่น ธนาคารบางแห่งอาจมีสินเชื่อสำหรับการทำธุรกิจ การซื้อรถ การซื้อที่อยู่อาศัย แต่อาจจะไม่มีสินเชื่อสำหรับการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือไม่มีสินเชื่อสำหรับการทำธุรกิจบางประเภท เป็นต้น
3. คุณลักษณะของผู้ขอสินเชื่อ
คุณลักษณะของผู้ขอสินเชื่อก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินจะนำมาใช้พิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดยทั่วไปแล้วจะพิจารณาโดยคำนึงถึงหลัก 5 Cs ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ปัจจัยดังนี้
หลัก 5 Cs ที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ใช้ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจะมีทั้ง Character คือความน่าเชื่อถือ Capacity คือความมั่นคงหรือความสามารถชำระหนี้ตามกำหนดเวลา Catipal คือทรัพย์สิน สินทรัพย์ เงินทุน หรือเงินฝาก Collateral คือหลักประกันหรือผู้ค้ำประกัน และ Conditions คือปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อรายได้ของผู้ขอสินเชื่อ
– Character หมายถึงความน่าเชื่อถือของตัวผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งจะเป็นการพิจารณาคุณลักษณะทั่วไป ตัวอย่างเช่น อายุ อาชีพ สถานภาพ ส่วนในกรณีที่เป็นเจ้าของธุรกิจหรือนิติบุคคลก็อาจจะดูประเภทของธุรกิจหรือระยะเวลาในการดำเนินกิจการด้วย เป็นต้น
– Capacity หมายถึงความมั่นคงหรือความสามารถในการชำระหนี้ตามกำหนดเวลา ซึ่งทางธนาคารหรือสถาบันการเงินจะต้องประเมินจากปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรายได้ ภาระหนี้สินเดิม ประวัติการชำระหนี้สินเชื่ออื่น ยอดการใช้จ่ายบัตรเครดิต เป็นต้น
– Capital หมายถึงทรัพย์สิน สินทรัพย์ เงินทุน หรือเงินฝากของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งทางธนาคารหรือสถาบันการเงินจะมองว่าเป็นแหล่งเงินสำรองเพื่อชดใช้หนี้แม้ในกรณีที่จะเกิดปัญหาทางการเงินขึ้นในอนาคตก็ตาม
– Collateral หมายถึงหลักประกันหรือผู้ค้ำประกัน ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินสามารถให้ผู้ค้ำประกันชดใช้หนี้แทนได้ หรือสามารถนำหลักประกันที่ผู้ขอสินเชื่อนำมาจำนำหรือจำนองไปขายทอดตลาดตามที่กฎหมายกำหนดได้ในกรณีที่ผู้ขอสินเชื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้
– Conditions หมายถึงปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อรายได้ของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งความมั่นคงในหน้าที่ ภาวะเศรษฐกิจ คู่แข่งทางเศรษฐกิจ หรือปัจจัยอื่นที่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงรายได้ของตัวผู้ขอสินเชื่อ เพราะสิ่งนี้บ่งบอกถึงความสามารถของการชดใช้หนี้สินในอนาคต
จะเห็นได้ว่าคุณลักษณะของผู้ขอสินเชื่อหรือธุรกิจของผู้ขอสินเชื่อนั้นมีผลต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ดังนั้นถ้าวางเป้าหมายของธุรกิจเอาไว้ชัดเจน มีแนวทางที่จะดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะช่วยให้มีคะแนนในการประเมินที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
ประโยชน์ของการตั้งเป้าหมายธุรกิจ
การตั้งเป้าหมายธุรกิจก็คือการกำหนดว่าธุรกิจของคุณมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่ออะไร ต้องทำแค่ไหนจึงจะสำเร็จตามวัตถุประสงค์นั้น ซึ่งจะต้องเขียนแผนธุรกิจ วางแนวทางในการดำเนินธุรกิจขึ้นมาด้วยว่าต้องทำอย่างไร ใช้ระยะเวลานานเท่าไหร่ ใช้กลยุทธ์แบบไหน และใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง
การตั้งเป้าหมายธุรกิจที่ดีและมีแนวทางที่ชัดเจนนั้นไม่ได้ช่วยแค่ทำให้สินเชื่อผ่านอนุมัติได้ง่าย แต่ยังเกิดประโยชน์อีกหลายอย่างกับภาพรวมธุรกิจของคุณด้วย ตัวอย่างเช่น
มีทิศทางธุรกิจที่ชัดเจน
เป้าหมายทางธุรกิจจะนำมาซึ่งความชัดเจนในวิธีดำเนินงาน ยิ่งกำหนดเป้าหมายเอาไว้ชัดเจนมากแค่ไหนก็ยิ่งรู้วิธีที่จะก้าวไปยังความสำเร็จได้ละเอียดมากเท่านั้น การวางแผนงานก็ต้องมีความรัดกุมจัดลำดับความสำคัญของงานให้ดี จัดระเบียบการทำงานของตำแหน่งต่าง ๆ ให้รอบคอบ และจะต้องบริหารจัดการเงินทุนกันอย่างเหมาะสมเพื่อคงเสถียรภาพของธุรกิจเอาไว้
มีแรงจูงใจในการดำเนินงาน
เป้าหมายทางธุรกิจช่วยให้รู้ว่าจะต้องดำเนินธุรกิจด้วยวิธีไหน ใช้กลยุทธ์แบบไหน แม้ในยามที่ธุรกิจมีปัญหาแต่ถ้ารู้วิธีแก้ก็จะช่วยให้มีแรงใจในการทำธุรกิจต่อไป รวมถึงยังช่วยให้รู้ว่าจะต้องใช้ทรัพยากรอะไรมากแค่ไหน สร้างแรงจูงใจให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพในทุกสถานการณ์
คาดการณ์สถานการณ์ได้
เป้าหมายทางธุรกิจจะช่วยให้คุณสามารถคาดการณ์ตลาดล่วงหน้าได้ และจะรู้ว่ากำลังจะเกิดสถานการณ์แบบไหนกับธุรกิจของคุณในอนาคต รวมถึงยังหาวิธีรับมือและสร้างแผนฉุกเฉินเอาไว้แก้ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ง่าย นอกจากนี้เป้าหมายและแผนธุรกิจที่ชัดเจนยังทำให้สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจที่เหนือกว่าคู่แข่งได้อีกด้วย
วิธีตั้งเป้าหมายธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีตั้งเป้าหมายธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นจะต้องมีหลักการที่ใช้งานได้จริง คาดหวังผลลัพธ์ได้อย่างรัดกุม รวมถึงจะต้องพัฒนาออกมาได้เป็นวิธีที่สอดคล้องกับธุรกิจที่กำลังดำเนินการอยู่ด้วย โดยทั่วไปแล้วนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการมักจะใช้หลักการ Smart Goal ซึ่งจะเป็น 5 องค์ประกอบหลักดังนี้
– S : Specific หมายถึงเป้าหมายที่มีความเฉพาะเจาะจง
– M : Measurable หมายถึงเป้าหมายที่สามารถวัดผลลัพธ์ได้
– A : Achievable หมายถึงเป้าหมายที่ทำให้สำเร็จได้จริง
– R : Relevant หมายถึงเป้าหมายที่สัมพันธ์กับความต้องการ
– T : Time-bound หมายถึงเป้าหมายที่มีกรอบเวลาเหมาะสม
หลัก Smart Goal จะเริ่มจาก Specific หรือความเฉพาะเจาะจงของเป้าหมาย Measurable คืการวัดผลลัพธ์ได้ Achievable ความสมเหตุสมผล สามารถทำได้จริง Relevant ความสัมพันธ์กับความต้องการที่แท้จริง และ Time-Bound คือการกำหนดระยะเวลาดำเนินการ
Specific
Specific คือความเฉพาะเจาะจงของเป้าหมาย ซึ่งอาจเริ่มจากการตั้งคำถามเกี่ยวกับธุรกิจของคุณอย่างง่าย ๆ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจของคุณคือใคร กำลังทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร (Who, What, Where, When, How) เพื่อกำหนดบริบทของธุรกิจออกมาได้เฉพาะเจาะจงมากที่สุด
เมื่อได้บริบทที่ชัดเจนแล้วก็จะสามารถนำมากำหนดเป็นเป้าหมายต่อได้ว่าธุรกิจของคุณควรจะต้องไปให้ถึงจุดไหน ในส่วนนี้ควรต้องมีทั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว (Short-term and Long-term Goals) โดยเป้าหมายระยะสั้นจะต้องเป็นการส่งเสริมธุรกิจของคุณให้ไปถึงเป้าหมายระยะยาวได้ต่อไป
Measurable
Measurable คือการสร้างเป้าหมายและกำหนดวิธีการวัดผลลัพธ์ที่ชัดเจน โดยทั่วไปแล้วมักมีหน่วยวัดเป้าหมายเป็นตัวเลข ตัวอย่างเช่น คะแนน หรือเปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะวัดผลได้ค่อนข้างแม่นยำ รวมถึงยังใช้ติดตามความคืบหน้าของผลลัพธ์ได้ง่าย ถ้ามีวิธีวัดผลลัพธ์ที่ชัดเจนแล้วก็จะช่วยให้รู้ว่าธุรกิจของคุณกำลังเดินไปข้างหน้าหรือกำลังก้าวถอยหลัง ซึ่งมีประโยชน์ต่อการพัฒนาและปรับปรุงการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Achievable
Achievable คือการสร้างเป้าหมายที่สามารถทำให้สำเร็จได้จริง ทุกอย่างมีความสมเหตุสมผล ซึ่งอาจเริ่มกำหนดจากทรัพยากรต่าง ๆ ที่ธุรกิจของคุณมีอยู่ทั้งเครื่องมือ ทีมงาน เงินลงทุน หรือปัจจัยอื่น ๆ แล้ววางเป้าหมายให้เหมาะสมกับสิ่งที่มี ถ้าเป้าหมายที่ต้องการยังใหญ่เกินไปที่จะทำให้สำเร็จได้ก็อาจตั้งเป้าหมายระยะสั้นหลาย ๆ ครั้งที่จะช่วยสานต่อให้ประสบความสำเร็จในเป้าหมายระยะยาวต่อก็ได้
Relevant
Relevant คือการสร้างเป้าหมายที่สัมพันธ์กับความต้องการของธุรกิจ คุณจะต้องคิดก่อนว่าเป้าหมายที่ต้องการนั้นมีประโยชน์กับธุรกิจของคุณอย่างไร ถ้าทำสำเร็จตามเป้าหมายแล้วธุรกิจจะเติบโตขึ้นจริงไหม คุ้มค่ามากแค่ไหนกับทรัพยากรและเวลาที่สูญเสียไป หรืออาจจะมองว่าถ้าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายแล้วจะช่วยเพิ่มโอกาสที่ดีให้กับธุรกิจของคุณมากแค่ไหนก็ได้
Time-bound
Time-bound คือการสร้างเป้าหมายที่มีกรอบเวลาอย่างเหมาะสม คุณจะต้องระบุเวลาที่ชัดเจนเอาไว้ว่าจะต้องประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเมื่อไหร่ เพื่อให้สามารถวางแผนการใช้ทรัพยากรและเงินทุนต่าง ๆ ได้ รวมถึงการกำหนดกลยุทธ์ในการทำตลาดขึ้นมาอย่างเหมาะสมตามกรอบเวลาที่คิดเอาไว้ และถ้ามีการกำหนดกรอบเวลาขึ้นมาแล้วก็จะช่วยให้บริหารจัดการทรัพยากรได้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น วัดผลลัพธ์ความสำเร็จได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายธุรกิจด้วย Smart Goal
ในการใช้ Smart Goal เพื่อตั้งเป้าหมายทางธุรกิจก็จะต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้าน โดยอาจนำตัวอย่างต่อไปนี้มาปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจของคุณก็ได้
ตัวอย่างการใช้ Smart Goal จะต้องกำหนดทั้งเป้าหมายที่ต้องการ กำหนดตัววัดผลลัพธ์ กำหนดระยะเวลา และจะต้องประเมินถึงความสมเหตุสมผลว่าสามารถทำได้จริงไหม เป้าหมายมีความคุ้มค่าแค่ไหนกับเวลาและทรัพยากรที่สูญเสียไป เช่น การเพิ่มยอดขายชานมไต้หวันให้ได้ 30% ภายใน 1 ปีโดยมีกลุ่มลูกค้าในช่วงอายุ 15-35 ปีซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทำได้จริงและมีความคุ้มค่าเพียงพอ เป็นต้น
ตัวอย่างธุรกิจ : ร้านชานมไข่มุก
Specific : กำหนดเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงเป็นการเพิ่มยอดขายของชานมไต้หวัน โดยใช้กลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มคนในช่วงอายุ 15-35 ปี และมีการจัดโปรโมชั่นสะสมแต้มเพื่อแลกขานมไข่มุกฟรี
Measurable : การวัดผลลัพธ์จะใช้เป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ โดยกำหนดว่าจะต้องมียอดขายชานมไต้หวันเพิ่มขึ้น 30% จากกลุ่มลูกค้าอายุ 15-35 ปี
Achievable : เป็นการตรวจสอบเป้าหมายว่าทำได้จริงหรือไม่ ถ้าลองพิจารณาจากที่ตั้งร้านและการขายแบบออนไลน์ ซึ่งกำลังจะจัดโปรโมชั่นสะสมแต้มเพื่อแลกชานมไข่มุกฟรีแล้วเป็นเป้าหมายที่ทำได้จริง เพราะในปีที่ผ่านมาก็มียอดขายเพิ่มมา 20% และกลุ่มลูกค้าอายุ 15-35 ปีในพื้นที่ก็มีเป็นจำนวนมาก ถ้ามีโปรโมชั่นเข้ามาเสริมก็ควรเพิ่มยอดขายในปีนี้ให้เป็น 30% ได้
Relevant : เป็นการพิจารณาความคุ้มค่าและความสอดคล้องกับธุรกิจ ซึ่งการเพิ่มยอดขายชานมไต้หวัน 30% ก็สอดคล้องกับประเภทธุรกิจ และกำไรจากยอดขายที่เพิ่มมา 30% ก็ถือว่าคุ้มค่าเพียงพอให้ลงทุน นอกจากจะได้กำไรเพิ่มแล้วก็ยังได้ฐานลูกค้าในพื้นที่เพิ่มมาอีกด้วย
Time-bound : เป็นการกำหนดระยะเวลาให้เป้าหมาย สำหรับการเพิ่มยอดขายชานมไต้หวัน 30% จะกำหนดเวลาเอาไว้ที่ 1 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เพียงพอและเหมาะสมในการเพิ่มยอดขายให้ได้ตามเป้าหมาย
ประโยชน์ของการใช้หลัก Smart Goal ในการตั้งเป้าหมายธุรกิจ
การใช้หลัก Smart Goalเพื่อตั้งเป้าหมายให้ธุรกิจถือว่าได้ประโยชน์ครอบคลุมในหลายด้าน และยังช่วยให้กำหนดเป้าหมายได้อย่างรัดกุม เพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี
– Smart Goal ช่วยให้ได้เป้าหมายและแนวทางทำธุรกิจที่ชัดเจน คุณจะรู้ว่าต้องทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร เพื่อให้เข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น
– Smart Goal ใช้กำหนดตัวชี้วัดผลลัพธ์ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งคุณสามารถนำข้อมูลในส่วนนี้มาใช้ประเมินและปรับปรุงกลยุทธ์ในการดำเนินงานได้
– Smart Goal ช่วยให้มีเป้าหมายที่ทำให้สำเร็จได้จริง ธุรกิจของคุณจะไม่เสียทรัพย์กรกับเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ เพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จและลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจได้
– Smart Goal ช่วยกำหนดเป้าหมายที่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจโดยตรง เป้าหมายจึงเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจในระยะยาว และยังช่วยให้มีกำลังใจทำธุรกิจต่อไปเมื่อเห็นความคืบหน้าอีกด้วย
– Smart Goal จะมีกรอบเวลากำหนดเอาไว้ชัดเจน ทำให้การใช้งานทรัพยากรและเวลาเป็นไปอย่างคุ้มค่า วางแผนล่วงหน้าได้ง่าย แม้ทรัพยากรจะมีอย่างจำกัดก็ยังสามารถใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้
4 ขั้นตอนการตั้งเป้าหมายและสร้างแผนธุรกิจอย่างง่าย
ถ้ามีเป้าหมายและแผนธุรกิจที่รัดกุม ในการประเมินขอสินเชื่อต่าง ๆ จากธนาคารหรือสถาบันการเงินก็จะผ่านได้ง่ายขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินพิจารณาสินเชื่อจะต้องตรวจสอบแผนธุรกิจของคุณด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงจะมาแนะนำแนวคิดในการตั้งเป้าหมายและสร้างแผนธุรกิจอย่างง่ายมาฝากกัน 4 ข้อดังนี้
ขั้นตอนในการตั้งเป้าหมายและสร้างแผนธุรกิจจะเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายจากความต้องการและปัจจัยต่าง ๆ ที่ธุรกิจของคุณมี จากนั้นก็โฟกัสที่เป้าหมายหลักให้ชัดเจน อาจมีการเพิ่มเป้าหมายระยะสั้นซึ่งสนับสนุนเป้าหมายหลักเข้าไปด้วยก็ได้ และจะต้องใช้หลัก SWOT Analysis เข้ามาวิเคราะห์เพื่อกำหนดแผนหรือวิธีดำเนินงานอย่างรัดกุม จากนั้นก็ติดตามการทำงานและผลลัพธ์เพื่อนำมาปรับปรุงแผนธุรกิจต่อไป
1. มองเป้าหมายให้ชัด
แน่นอนว่าการสร้างเป้าหมายถือว่าจำเป็นที่สุดในธุรกิจทุกประเภท เมื่อคุณนำหลักการ Smart Goal มาใช้สร้างเป้าหมายได้อย่างรัดกุมแล้วก็จะต้องยึดเป้าหมายนั้นเป็นหลักในการทำธุรกิจ การมองเป้าหมายที่ชัดเจนเพียงอย่างเดียวจะช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาไปกับปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็น และยังช่วยให้เป้าหมายสำเร็จได้ไวขึ้นอีกด้วย
2. เพิ่มเป้าหมายระยะสั้น
ถ้าการกำหนดเป้าหมายระยะยาวนั้นทำให้สำเร็จได้ยาก หรืออาจรู้สึกท้อใจระหว่างที่ยังทำไม่สำเร็จก็อาจมีการสร้างเป้าหมายระยะสั้นขึ้นมาเพิ่มได้ แต่เป้าหมายระยะสั้นนี้ก็จะต้องช่วยส่งเสริมเป้าหมายในระยะยาวด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าเป้าหมายระยะยาวคือการสร้างยอดขายชานมไต้หวันเพิ่มขึ้น 30% เป้าหมายระยะสั้นก็อาจกำหนดเป็นการใช้โปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลุ่มเป้าหมายอายุ 15-35 ปีให้ได้จำนวนเพิ่มขึ้น 50% ภายใน 2 เดือน เป็นต้น
3. กำหนดวิธีดำเนินงาน
การกำหนดวิธีดำเนินงานก็คือการสร้างแผนธุรกิจที่จะต้องคำนึงถึงเป้าหมายเป็นหลัก จากนั้นก็วิเคราะห์ธุรกิจของคุณและตลาดด้วยเทคนิค SWOT Analysis เพื่อให้ได้ข้อมูลมากำหนดวิธีดำเนินงาน โดย SWOT จะมี 4 องค์ประกอบดังนี้
– S : Strengths หมายถึงจุดแข็ง ซึ่งก็คือจุดเด่นที่ธุรกิจของคุณมี ตัวอย่างเช่น ความสามารถของทีมงาน เงินลงทุน หรือมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นต้น
– W : Weaknesses หมายถึงจุดอ่อน ซึ่งก็คือสิ่งที่ธุรกิจของคุณทำได้ไม่ดี หรือเป็นสิ่งที่ยังสู้คู่แข่งในตลาดไม่ได้
– O : Opportunities หมายถึงโอกาส ซึ่งก็คือปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่มีผลเชิงบวกต่อธุรกิจของคุณ ตัวอย่างเช่น นโยบายจากภาครัฐ หรือสถานที่ในการตั้งกิจการที่มีกลุ่มเป้าหมายเยอะ เป็นต้น
– T : Threats หมายถึงอุปสรรค ซึ่งก็คือปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่มีผลเชิงลบต่อธุรกิจของคุณ ตัวอย่างเช่น การมีคู่แข่งเป็นจำนวนมาก หรือสถานการณ์ตลาดที่ค่อนข้างผันผวน เป็นต้น
การนำ SWOT Analysis มาใช้วิเคราะห์เพื่อวางแผนการดำเนินงานจะต้องวิเคราะห์ทั้งธุรกิจของตัวเองและธุรกิจของคู่แข่งเพื่อให้ได้ข้อมูลที่รอบด้าน และจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลกันอย่างเป็นกลาง ไม่คิดเข้าข้างตัวเอง ไม่หนีความจริง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและนำมาพัฒนากลยุทธ์ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. การติดตามผลลัพธ์
มีธุรกิจหลายแห่งที่เตรียมความพร้อมทำธุรกิจมาเป็นอย่างดี แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวเพราะหมดกำลังใจหรือดำเนินงานแบบไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นเมื่อวานแผนการดำเนินงานตามเป้าหมายมาแล้วก็ต้องติดตามการทำงานและผลลัพธ์กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจใช้การวางเป้าหมายระยะสั้นเข้ามาช่วยก็ได้
ถ้ามีความพยายาม ไม่ย่อท้อ และติดตามผลลัพธ์กันอย่างต่อเนื่องก็จะช่วยให้ธุรกิจของคุณเข้าใกล้ความสำเร็จขึ้นได้เรื่อย ๆ ในกรณีที่ติดตามผลลัพธ์แล้วพบว่าไม่เป็นอย่างที่คิดเอาไว้ก็จะมีเวลาปรับเปลี่ยนแผนเพื่อให้เหมาะสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ และควรมีการสร้างแผนสำรองเอาไว้อย่างน้อย 2-3 แผนเผื่อกรณีที่ธุรกิจเกิดปัญหาหรือไม่สามารถทำตามแผนหลักได้ด้วย
บทสรุป : วิธีการสร้างเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อเพิ่มโอกาสได้รับสินเชื่อ
เพื่อเพิ่มโอกาสได้รับสินเชื่อนั้นวิธีการสร้างเป้าหมายที่ชัดเจนถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะธนาคารหรือสถาบันการเงินจะพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณอย่างรอบด้าน และนำมาประเมินความสามารถในการชดใช้หนี้ในอนาคต ถ้าเป้าหมายที่วางเอาไว้และแผนธุรกิจมีความสอดคล้องกัน มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง โอการที่จะยื่นขอสินเชื่อผ่านก็จะสูงตามไปด้วย
เมื่อธุรกิจของคุณได้รับสินเชื่อก็สามารถนำเงินทุนส่วนนั้นมาพัฒนาธุรกิจให้ก้าวหน้าขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการขยายธุรกิจ เพิ่มสาขา วิจัยสินค้าใหม่ เพิ่มจำนวนทีมงาน หรือจะนำมาใช้เป็นกระแสเงินสดเพื่อดำเนินธุรกิจก็ได้ การสร้างเป้าหมายและวางแผนธุรกิจที่ชัดเจนจึงเป็นการยิงปืนนัดเดียวแต่ได้นกสองตัว นอกจากจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ง่ายแล้วยังเพิ่มโอกาสได้รับสินเชื่อเพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจของคุณต่อได้อีกด้วย