ก่อนเริ่มต้นธุรกิจอะไรก็ตาม การวิเคราะห์งบการเงินอย่างรอบคอบและครอบคลุมด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพถือว่ามีส่วนช่วยให้ธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้นไม่แพ้กลยุทธ์ดำเนินงานอื่น ๆ ยิ่งมีความเข้าใจในการบริหารจัดการงบประมาณมากแค่ไหนก็ยิ่งช่วยเปิดโอกาสในการลงทุนที่ดีให้กับธุรกิจของคุณอีกด้วย
งบการเงินคืออะไร มีองค์ประกอบอย่างไร?
งบการเงินเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นเอกสารที่บอกข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของธุรกิจ การอ่านข้อมูลจากงบการเงินจะช่วยให้มองเห็นภาพได้ว่าธุรกิจในปัจจุบันมีสภาพคล่องทางการเงินมากแค่ไหน สร้างกำไรได้มากเท่าไหร่ มีหนี้สินติดค้างอยู่หรือไม่
ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจที่กำลังตัดสินใจว่าจะจะลงทุนกับธุรกิจไหนก็ควรศึกษาและวิเคราะห์การเงินให้เป็นเพื่อให้ตัดสินใจได้อย่างเฉียบขาด แม่นยำ ในส่วนองค์ประกอบของงบการเงินก็จะมีอยู่ 4 ส่วนดังนี้
องค์ประกอบของงบการเงินจะแบ่งออกมาเป็น 4 ส่วน คืองบดุลซึ่งแสดงฐานะทางการเงินโดยรวมของธุรกิจ งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด และหมายเหตุประกอบงบการเงินซึ่งเป็นส่วนขยายจากทุกส่วน
1. งบดุล
งบดุลหรืองบแสดงฐานะทางการเงิน (Balance Sheet) เป็นงบที่แสดงถึงฐานะทางการเงินโดยรวมของธุรกิจนั้นในเวลาที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งจะแสดงออกมาทั้งสินทรัพย์และหนี้สินของทั้งตัวเจ้าของธุรกิจเองและผู้ถือหุ้น ข้อมูลงบดุลจะช่วยให้ประเมินสภาพคล่องและความมั่นคงทางการเงินของธุรกิจนั้นได้ และยังบ่งบอกถึงมูลค่าและประเภทของสินทรัพย์ที่มีด้วยเช่นกัน
2. งบกำไรขาดทุน
งบกำไรขาดทุน (Income Statement) เป็นงบที่ใช้ในการสรุปต้นทุน รายได้ รายจ่าย ผลกำไรและขาดทุนของธุรกิจ ซึ่งจะรวมไปถึงแนวโน้มของกำไรที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วย งบกำไรขาดทุนจึงเป็นตัวบ่งบอกว่าธุรกิจนั้นมีศักยภาพในการทำกำไรมากแค่ไหน ผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร และยังนำมาใช้เปรียบเทียบการดำเนินงานในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันได้ด้วย ในส่วนของรายได้ในงบกำไรขาดทุนก็จะถูกแบ่งออกมาเป็น 2 ส่วนย่อย ได้แก่
2.1 รายได้หลัก หมายถึงรายได้ที่มาจากสินค้าหรือบริการหลัก ตัวอย่างเช่น ถ้าทำร้านชานมไข่มุก รายได้หลักก็คือการขายเครื่องดื่มต่าง ๆ เป็นต้น
2.2 รายได้เสริม หมายถึงรายได้ที่ไม่ได้มาจากสินค้าหรือบริการหลัก ตัวอย่างเช่น ถ้าทำร้านชานมไข่มุก อาจขายขนมปังเป็นรายได้เสริม หรือการนำขวดเปล่ามาขาย เป็นต้น
3. งบกระแสเงินสด
งบกระแสเงินสด (Statement of cash flows) เป็นงบที่แสดงการไหลเข้าและออกของเงินสด ซึ่งจะช่วยบ่งบอกสภาพคล่องของธุรกิจได้เช่นเดียวกัน เพราะงบกำไรขาดทุนจะบ่งบอกถึงยอดที่คงค้างในแต่ละช่วงเวลา ส่วนงบกระแสเงินสดจะบ่งบอกถึงยอดเงินที่เข้า-ออกจริง ธุรกิจไหนสามารถบริหารจัดการกระแสเงินสดได้ดีก็จะมีสภาพคล่องทางการเงินสูง โดยกระแสเงินสดจะแบ่งออกมาได้เป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่
3.1 กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน หมายถึงกระแสเงินสดที่มาจากการดำเนินธุรกิจหลัก ในส่วนนี้ถ้าตัวเลขเป็นบวกก็หมายถึงกิจการยังมีศักยภาพในการสร้างเงินสดได้ แต่ถ้าตัวเลขติดลบก็หมายถึงไม่มีเงินสดหมุนเวียนเข้าสู่ธุรกิจเลยซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดี
3.2 กระแสเงินสดจากการลงทุน หมายถึงกระแสเงินสดที่มาจากการลงทุนในสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ ในส่วนนี้ถ้าตัวเลขติดลบจะเป็นเรื่องดีเพราะหมายความว่าธุรกิจของคุณมีการนำเงินไปลงทุนสร้างผลตอบแทนเพิ่มหรือมีการขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.3 กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน หมายถึงกระแสเงินสดที่มาจากการจ่ายหนี้หรือจ่ายเงินปันผล ดังนั้นตัวเลขติดลบจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะหมายความว่าธุรกิจนั้นมีการนำเงินสดมาชำระหนี้สินหรือจ่ายเงินปันผล แต่ถ้าตัวเลขในส่วนนี้เป็นบวกจะหมายถึงการได้รับเงินสดเข้าซึ่งอาจเป็นการกู้เงินเพิ่ม ดังนั้นตัวเลขที่เป็นบวกจึงไม่ใช่เรื่องดี
4. หมายเหตุประกอบงบการเงิน
หมายเหตุประกอบงบการเงินจะเป็นส่วนที่บอกถึงภาพรวมหรือนโยบายทางบัญชีของธุรกิจ เป็นการอธิบายที่มาที่ไปของงบแต่ละส่วน แสดงรายการต่าง ๆ เพิ่มเติม อธิบายข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแหล่งที่มาหรือการใช้จ่าย โดยจะประกอบไปด้วย 4 ส่วนดังนี้
4.1 ภาพรวมของนโยบายทางบัญชี คือนโยบายของธุรกิจที่อธิบายว่ามีการบริหารจัดการงบอย่างไร มีวิธีคิดค่าเสื่อมราคาอย่างไร และระบุรายละเอียดอื่น ๆ ที่จำเป็น
4.2 รายละเอียดลูกหนี้ จะเป็นการให้รายละเอียดภาพรวมเกี่ยวกับลูกหนี้ของธุรกิจ
4.3 รายละเอียดเจ้าหนี้ จะเป็นการบอกรายละเอียดหนี้ของธุรกิจทั้งหมดโดยจะแยกหนี้ทุกก้อนแล้วแสดงรายละเอียดอย่างชัดเจน
4.4 การลงทุนและหุ้นในบริษัทอื่น ข้อมูลในส่วนนี้จะให้รายละเอียดที่มากกว่าในงบดุล โดยจะต้องบอกว่าถือหุ้นหรือลงทุนอยู่กับธุรกิจไหน มีสัดส่วนหุ้นอยู่เท่าไหร่ สร้างรายได้อย่างไร มีเงินปันผลแบบไหน เป็นต้น
4.5 รายละเอียดสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ ตัวอย่างเช่น เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เป็นต้น
4.6 อัตราแลกเปลี่ยน ถ้าธุรกิจของคุณต้องเกี่ยวข้องกับสกุลเงินต่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาก็ต้องมีการใส่ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินที่ใช้เอาไว้ด้วย
การวิเคราะห์งบการเงินมีประโยชน์อย่างไร
ถ้าจะพูดถึงงบการเงินแล้วก็ถือว่ามีประโยชน์สำหรับการทำธุรกิจอยู่หลายด้าน เพราะงบการเงินจะเป็นตัวบ่งบอกถึงข้อมูลทางการเงินของธุรกิจ ถ้านำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการวิเคราะห์ก็จะได้ข้อมูลเชิงลึกที่ละเอียดรอบด้าน ตรงกับสถานการณ์จริง โดยทั่วไปแล้วการทำงบการเงินจึงมีประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสำหรับธุรกิจของคุณเอง พนักงาน ผู้ร่วมลงทุน ธนาคาร บริษัทประกัน และหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบ
– ประโยชน์สำหรับธุรกิจ เพราะการทำงบการเงินจะช่วยให้ตัวธุรกิจของคุณมีรายละเอียดข้อมูลสำคัญที่บ่งบอกถึงศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และยังนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้พัฒนากลยุทธ์ต่าง ๆ ต่อได้อีกด้วย
– ประโยชน์สำหรับผู้ร่วมลงทุน เพราะผู้ร่วมลงทุนสามารถอ่านงบการเงินแล้วประเมินศักยภาพในการทำกำไรของธุรกิจก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนได้ว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จ มีความเสี่ยง หรือมีความคุ้มค่ามากแค่ไหน
– ประโยชน์สำหรับธนาคารและบริษัทประกัน ธนาคารและบริษัทประกันสามารถนำงบการเงินของธุรกิจต่าง ๆ มาใช้เพื่อประเมินความเสี่ยงของธุรกิจนั้นได้ ซึ่งจะส่งผลถึงการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อหรือการประกันด้วย
– ประโยชน์สำหรับหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบ เพราะข้อมูลงบการเงินสามารถใช้ตรวจสอบภาษีและประเมินรายจ่ายของธุรกิจเพื่อการกำกับดูแลได้
– ประโยชน์สำหรับพนักงาน เพราะงบการเงินช่วยให้พนักงานมองเห็นสถานะทางการเงินในปัจจุบันของธุรกิจและสามารถปรับตัวเข้ากับนโยบายในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถ้าคุณยังเป็นนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการมือใหม่ที่อ่านงบการเงินไม่เป็นก็สามารถดูคลิปวีดีโอ วิธีอ่านงบการเงิน นี้เพื่อศึกษาเพิ่มเติมได้
ปัญหาที่มักเกิดขึ้นเมื่อทำการวิเคราะห์งบการเงิน
เมื่อทำการวิเคราะห์และประเมินงบการเงินก็จะเริ่มพบกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงาน ถ้ารู้ปัญหาก็จะช่วยให้หาทางแก้ไขได้ง่าย เราจึงทำการรวบรวมปัญหาที่พบบ่อยเมื่อทำการวิเคราะห์งบการเงินและวิธีแก้อย่างง่าย ๆ ออกมาให้ศึกษากันดังนี้
ปัญหาที่มักเกิดขึ้นเมื่อวิเคราะห์งบการเงินจะมีตั้งแต่ไม่รู้วิธีวิเคราะห์ มีความล่าช้าของขั้นตอนการดำเนินงาน ขาดความเชี่ยวชาญและการสื่อสารที่ดี และความซับซ้อนของงบการเงินก็เป็นอุปสรรคสำคัญเช่นกัน
– ไม่รู้วิธีวิเคราะห์ : เมื่อเริ่มต้นวิเคราะห์และประเมินงบการเงินอาจทำได้ด้วยการตั้งคำถามบางอย่างขึ้นมาแล้วหาคำตอบ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจเติบโตขึ้นไหน มากแค่ไหน เพราะอะไร หรือสามารถปรับปรุงสภาวะทางการเงินได้อย่างไรบ้าง เป็นต้น
– ความล่าช้า : เนื่องจากการวิเคราะห์และประเมินงบการเงินอย่างละเอียดจะต้องมีการตรวจสอบเอกสารที่มีความซับซ้อนจำนวนมากจึงอาจเกิดความล่าช้าขึ้นได้ ซึ่งอาจจะใช้การทำงานเป็นทีมหรือขอความร่วมมือจากผู้ทำแผนการเงินโดยตรงเพื่อช่วยลดเวลาได้
– ขาดความเชี่ยวชาญ : สำหรับผู้ที่ไม่เคยวิเคราะห์หรือจัดทำงบการเงินก็อาจจะมีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับข้อมูลและเอกสาร ซึ่งอาจทำให้การวิเคราะห์ผิดพลาดได้ง่าย ดังนั้นการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินหรือหาทีมงานเข้ามาดำเนินงานจะช่วยแก้ไขเรื่องความไม่เชี่ยวชาญได้
– ขาดการสื่อสารที่ดี : ในบางครั้งการวิเคราะห์งบการเงินก็จะต้องติดต่อสื่อสารกับพนักงานหลายฝ่าย หรืออาจต้องสื่อสารกับทีมงานผู้ช่วยในการประเมิน ดังนั้นควรมีการสื่อสารที่ขัดเจน พูดหรือทำเอกสารให้ตรงประเด็น และจะต้องนึกถึงความเหมาะสมในการสื่อสารด้วยเช่นกัน
– ความซับซ้อนของงบการเงิน : เนื่องจากงบการเงินเป็นข้อมูลที่มีความซับซ้อนสูง ยิ่งเป็นธุรกิจใหญ่มากแค่ไหนการทำงบการเงินก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น แม้จะมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญคอยดำเนินการวิเคราะห์ให้แล้วแต่ก็ต้องให้เวลาทำงานอย่างเหมาะสมด้วย
แนวทางในการวิเคราะห์การเงินของธุรกิจ
เมื่อมีงบการเงินอยู่ในมือแล้วก็จะต้องวิเคราะห์และประเมินให้เป็นเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้ ช่วยให้เข้าใจสถานะทางการเงินของธุรกิจได้อย่างแม่นยำ โดยจะมีหลักการใช้งานอยู่เพียง 3 ข้อ ได้แก่
1. การวิเคราะห์งบการเงิน
การวิเคราะห์งบการเงินจะเป็นการตรวจสอบงบดุล งบกำไรขาดทุน รวมไปถึงงบกระแสเงินสดของธุรกิจเพื่อทำความเข้าใจสภาพคล่องทางการเงิน ผลกำไร-ขาดทุน และความสามารถในการชำระหนี้ว่าในปัจจุบันดีหรือไม่ดีอย่างไร มีแนวโน้มไปในทิศทางไหน และมีงบส่วนไหนที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงหรือไม่ เป็นต้น
2. การประเมินกระแสเงินสด
การประเมินกระแสเงินสดจะเป็นการมองข้อมูลเชิงลึกของกระแสเงินสดที่เข้าและออกภายในธุรกิจเพื่อประเมินความสามารถในการสร้างเงินสดให้กับธุรกิจว่ามีศักยภาพมากแค่ไหน มีเงินสดหมุนเวียนเพียงพอกับการใช้จ่ายหรือไม่ และมีความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างไร เป็นต้น
3. การตรวจสอบทางกฎหมาย
การตรวจสอบทางกฎหมายจะเป็นการตรวจสอบว่านโยบายหรือมาตรการทางการเงินต่าง ๆ ของธุรกิจนั้นดำเนินการตามกฎระเบียบและกฎหมายหรือไม่ รวมถึงจะต้องคอยตรวจสอบและวางแผนการจ่ายภาษีหรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน
การวางแผนบริหารจัดการเงินทุนเพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจ
การจะนำมาซึ่งงบการเงินที่ดีก็จะต้องมีการวางแผนบริหารจัดการเงินทุนที่ดีด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงจะมาแนะนำวิธีวางแผนบริหารจัดการเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับเริ่มต้นธุรกิจใหม่ เพราะการวางแผนการเงินคือการมองภาพสถานการณ์ปัจจุบันแล้ววางแผนเพื่อสร้างแนวทางสำหรับอนาคต ซึ่งจะแยกวิธีทำออกมาได้เป็น 5 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
การวางแผนบริหารจัดการเงินทุนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจจะมีตั้งแต่การสร้างเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน ติดตามการใช้จ่ายและทำงบดุล จากนั้นก็จัดทำแผนการเงินแล้วค้นหาวิธีให้บรรลุเป้าหมาย ถ้าไม่สามารถทำตามแผนหลักได้ก็ต้องมีการปรับปรุงแผนหรือคิดแผนสำรองเผื่อเอาไว้ด้วย
1. สร้างเป้าหมายทางการเงิน
เป้าหมายทางการเงินจะเป็นตัวกำหนดแผนการดำเนินงานในอนาคต ในการตั้งเป้าหมายควรมีการตั้งทั้งเป้าหมายเพื่อความมั่นคงของธุรกิจซึ่งจะใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการล้มเหลวหรือขาดทุน และจะต้องตั้งเป้าเพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจซึ่งจะเป็นนโยบายเชิงรุกต่าง ๆ ในการทำกำไร จากนั้นก็จัดลำดับความสำคัญตามความจำเป็นหรือโอกาสที่เข้ามาเพื่อให้เข้าใกล้ความสำเร็จมากที่สุดและหลีกเลี่ยงการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น
2. ติดตามการใช้จ่ายและทำงบดุล
เมื่อมีการใช้จ่ายเกิดขึ้นก็ต้องติดตามทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรายรับหรือรายจ่ายก็ตาม จากนั้นก็จัดทำเป็นงบดุลขึ้นมาเพื่อให้เห็นข้อมูลภาพรวมทั้งหมด การดำเนินงานทั่วไปก็ควรทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายขึ้นมาให้รัดกุมเพื่อให้มองเห็นสถานะการเงินในปัจจุบันและยังนำมาวิเคราะห์เพื่อค้นหาปัญหาหรือจุดบอดที่เกิดขึ้นในการใช้จ่าย
3. จัดทำแผนการเงิน
การจัดทำแผนการเงินจะต้องมองทั้งเป้าหมายและปัจจัยต่าง ๆ ที่ธุรกิจของคุณมีอยู่แล้ววางแผนออกมาให้รัดกุม มองทุกอย่างให้เป็นเหตุเป็นผลเพื่อสร้างแผนที่สามารถใช้งานได้จริง มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง ซึ่งอาจมีทั้งแผนระยะสั้นและแผนระยะยาวก็ได้ หลังจากนั้นก็บริหารจัดการเงินทุนทั้งหมดให้ดีเพื่อให้แผนสำเร็จภายในเวลาที่กำหนด
การบริหารการเงินจะต้องเริ่มจากการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกเพื่อให้เหลือเงินทุนในธุรกิจมากขึ้น ต้องจัดการทั้งสินทรัพย์และหนี้สินให้มีความสมดุล มีกระแสเงินสดเหลือไว้สำหรับใช้จ่ายในธุรกิจเพื่อให้เกิดสภาพคล่อง ถ้าสามารถบริหารจัดการเงินทั้งหมดได้อย่างลงตัวแล้วเป้าหมายทางการเงินก็มีโอกาสสำเร็จได้มากขึ้น
4. ค้นหาวิธีเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
การจะบรรลุเป้าหมายทางการเงินสามารถทำได้หลายวิธี และยังสามารถใช้หลายวิธีมาประกอบกันเพื่อเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายรับ บริหารจัดการเงินทุนอย่างเหมาะสม และยังนำเครื่องมือหรือการลงทุนแบบอื่น ๆ ที่มีความปลอดภัยเข้ามาช่วยเพิ่มผลกำไรในธุรกิจได้
นอกจากการขายสินค้าและบริการตามปกติแล้วก็อาจหาสินค้าอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกันมาเพิ่มรายได้เสริม หรืออาจนำเงินไปลงทุนกับกองทุนและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อเป้าหมายระยะยาวก็ได้ และจะต้องไม่ลืมเรื่องของประกันภัยและประกันทรัพย์สินเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับธุรกิจของคุณด้วย
5. ปรับปรุงแผนตามความเหมาะสม
แม้จะวางแผนการเงินกันมาอย่างรัดกุมแค่ไหน แต่ปัจจัยและความผันผวนต่าง ๆ ก็มักจะทำให้แผนการผิดพลาดได้เสมอ ดังนั้นจะต้องมีการติดตามและวัดผลลัพธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้รู้สถานการณ์การเงินของธุรกิจตัวเองอยู่ตลอด เมื่อมีเหตุไม่คาดฝันหรือไม่สามารถทำตามแผนการหลักได้ก็ต้องวางแผนสำรองเพื่อแก้ไขสถานการณ์เอาไว้ล่วงหน้าเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจของคุณ
หลักการวางแผนการเงินด้วยปิรามิดการเงิน
หลักในการวางแผนการเงินที่นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบันก็คือแผนภาพปิรามิดการเงิน (Financial Planning Pyramid) ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นลำดับความสำคัญ ขั้นตอน และปัจจัยต่าง ๆ ที่ต้องใช้ได้อย่างรอบด้าน ไม่ตกหล่นประเด็นสำคัญ แม้โดยทั่วไปแล้วมักจะใช้ปิรามิดการเงินเพื่อวางแผนการเงินส่วนบุคคล แต่ก็ยังสามารถปรับใช้กับการทำธุรกิจได้ด้วย โดยจะต้องให้ความสำคัญจากฐานของปิรามิดมากที่สุดแล้วค่อย ๆ ลดหลั่นลำดับความสำคัญไปจนถึงยอดปิรามิด ซึ่งจะมีชั้นของปิรามิดทั้งหมดดังนี้
หลักการวางแผนการเงินด้วยการใช้ปิรามิดการเงินจะต้องโฟกัสที่ฐานมากที่สุดจากนั้นค่อยลดหลั่นความสำคัญไปจนถึงยอดปิรามิด ซึ่งจะเริ่มจากการบริหารจัดการรายรับ-รายจ่าย การบริหารความเสี่ยง การเก็บออมและลงทุน ไปจนถึงการส่งมอบความมั่งคั่งซึ่งก็คือมรดกหรือการบริจาคที่จะช่วยลดหย่อนภาษีและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจของคุณได้ และจะต้องไม่ลืมการจัดการภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย
การบริหารจัดการรายรับ-รายจ่าย
การบริหารจัดการรายรับ-รายจ่าย (Revenue – Expense Management) นับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดในการวางแผนการเงิน เพราะการรู้สถานะการเงินตัวเองจะช่วยให้เตรียมตัวสร้างแผนการเงินที่มีศักยภาพได้ง่าย และถ้าสามารถบริหารจัดการรายรับ-รายจ่ายของธุรกิจตัวเองได้ดีก็จะช่วยให้มีสภาพคล่องสูงขึ้นตามไปด้วย
การบริหารความเสี่ยง
การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ก็นับว่าเป็นหนึ่งในขั้นตอนการวางแผนการเงินเช่นเดียวกัน ในส่วนนี้จะเป็นการวางแผนเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนของตลาดและอุปสรรคต่าง ๆ ที่อาจจะทำให้พลาดเป้าหมายไปได้ ตัวอย่างเช่น การทำประกันภัย หรือการวางแผนฉุกเฉินเอาไว้ล่วงหน้า เป็นต้น
การเก็บออมและลงทุน
การเก็บออมและลงทุน (Saving and Investment) เป็นการลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจและสร้างโอกาสให้ธุรกิจสำเร็จตามเป้าหมายได้ไวขึ้น การเก็บออมหรือการมีแหล่งเงินทุนสำรองจะช่วยให้ธุรกิจของคุณไม่พลาดโอกาสที่กำลังผ่านเข้ามา และการลงทุนก็จะช่วยเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจของคุณได้อีกทาง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุนต่าง ๆ หรือลงทุนเพื่อขยายกิจการก็ได้ แต่จะต้องทำอย่างรอบคอบ ศึกษาข้อมูลมาให้ดีก่อนทุกครั้ง
การส่งมอบความมั่งคั่ง
การส่งมอบความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) เรียกง่าย ๆ ก็คือการจัดการมรดกหรือการส่งต่อทรัพย์สินในรูปแบบการบริจาค การช่วยเหลือผู้อื่นหลังจากที่คุณประสบความสำเร็จตามเป้าหมายไปแล้ว สำหรับการทำธุรกิจแล้วการบริจาคก็ยังช่วยให้ได้ลดหย่อนภาษี และยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจของคุณได้ด้วย
ภายนอกของปิรามิดการเงินทั้ง 4 ชั้นจะต้องมีการวางแผนจัดการภาษีอย่างรอบคอบ ยิ่งถ้าสามารถวางแผนบริหารจัดการการเงินของธุรกิจได้แล้วก็จะคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายล่วงหน้าได้ เหลือแค่บริหารเวลาให้ยื่นจ่ายภาษีครบและทันทั้งหมดการดำเนินธุรกิจของคุณก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาทางด้านกฎหมายอีกด้วย
บทสรุป : วิธีวิเคราะห์การเงินอย่างรอบคอบและครอบคลุม ก่อนเริ่มต้นธุรกิจ
หลังจากที่ได้รู้วิธีวิเคราะห์การเงินและวางแผนอย่างรอบคอบและครอบคลุมก่อนเริ่มต้นธุรกิจไปแล้ว สิ่งที่ห้ามลืมในการดำเนินการก็คือเป้าหมายหลักทางการเงินของธุรกิจ ไม่ว่าจะมีแผนแบบไหนก็ต้องสร้างขึ้นมาโดยคำนึงเป้าหมายของธุรกิจเป็นหลัก ต้องมีการสร้างเป้าหมายระยะสั้นและเป้าหมายระยะยาวเพื่อให้เกิดกำลังใจในการทำงาน สร้างความยั่งยืนทางการเงินด้วยการบริหารจัดการงบประมาณอย่างสมเหตุสมผล
การวางแผนการเงินจะต้องมองถึงความปลอดภัย ความคุ้มค่าในการลงทุนต่าง ๆ เพื่อให้แผนที่สร้างขึ้นมามีโอกาสสำเร็จมากที่สุด แต่การที่จะไปถึงจุดนั้นได้ก็จะต้องวิเคราะห์และประเมินงบการเงินกันเป็นระยะ ๆ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาแผนงานให้มีศักยภาพสูงที่สุดอยู่ตลอดเวลา แม้ในช่วงแรกจะเต็มไปด้วยอุปสรรคต่าง ๆ ถาโถมเข้ามาแต่ถ้าวิเคราะห์กันด้วยความรอบคอบและประเมินได้อย่างครอบคลุมก็จะต้องประสบความสำเร็จในที่สุดแน่นอน