การตลาด คืออะไร : ประเภทของการตลาดและ โครงสร้างภาพรวม

ประเภทของการตลาดและ โครงสร้างภาพรวม

การตลาด คืออีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ต้องใช้เพื่อให้ธุรกิจของคุณเจริญก้าวหน้าขึ้น มียอดขายมากขึ้น และทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักแบรนด์สินค้าของคุณ ไม่ว่าสินค้าและบริการของคุณคืออะไรการตลาดก็จะช่วยกระตุ้นยอดขายให้สูงขึ้น ยิ่งมีการตลาดที่ดีมากแค่ไหนกลุ่มลูกค้าก็จะยิ่งจดจำสินค้าและแบรนด์ของคุณได้ดีมากขึ้นเท่านั้น

การตลาด (Marketing) คืออะไร

การตลาดหรือ Marketing คือกระบวนการวางแผน สร้างสรรค์ ส่งมอบ หรือแลกเปลี่ยนข้อเสนอให้กับกลุ่มเป้าหมายซึ่งก็คือลูกค้า กิจกรรมหลัก ๆ ของการตลาดจะมีตั้งแต่การวิเคราะห์ตลาด การพัฒนาสินค้า การตั้งราคาขาย การขาย การส่งเสริมการขาย และอื่น ๆ ต่อให้ตอนเริ่มต้นลูกค้าไม่ได้สนใจสินค้าของคุณแต่ถ้ามีการตลาดที่ดีก็จะช่วยให้พวกเขาตัดสินใจซื้อสินค้าของคุณได้

“การตลาดจะช่วยเจาะกลุ่มลูกค้า เพิ่มยอดขายสินค้า และเพิ่มการรับรู้ถึงแบรนด์ได้พร้อมกัน”

ความแตกต่างระหว่างการตลาด (Marketing) กับการขาย (Sales) คือการตลาดจะเน้นการรับรู้ถึงแบรนด์ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ ให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการ และเปลี่ยนจากผู้ที่สนใจให้กลายมาเป็นลูกค้า ส่วนการขายจะเน้นไปทางปิดการขายและสร้างรายได้โดยตรง มีการให้ข้อมูลในส่วนที่ลูกค้าจะสนใจ ให้ข้อเสนอและโน้มน้าวใจ เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้มีการซื้อสินค้า

ความสำคัญของการตลาด

การตลาดที่ดีจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจของคุณเติบโตขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นกระบวนการสำคัญของธุรกิจทุกแห่ง เรียกได้ว่าถ้าต้องการให้มีคนรู้จักสินค้าหรือบริการอะไรก็จะขาดเรื่องการตลาดไม่ได้เลยทีเดียว สำหรับประโยชน์หลัก ๆ ของการตลาดก็จะมีดังนี้

การตลาดที่ดีจะช่วยให้ธุรกิจของคุณเข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น ลดต้นทุน เพิ่มยอดขาย เพิ่มส่วนแบ่งตลาด สร้างการรับรู้ถึงแบรนด์และยังสร้างความภักดีต่อแบรนด์ได้ด้วย

เพิ่มยอดขาย : การตลาดที่ดีจะทำให้ธุรกิจของคุณเข้าถึงลูกค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มลูกค้าใหม่และรักษาลูกค้าเก่าเอาไว้ได้

ลดต้นทุน : การตลาดที่ดีจะช่วยให้กลยุทธ์การขายต่าง ๆ ได้ผลดีขึ้น ช่วยประหยัดเงินทุนในส่วนอื่นได้

สร้างการรับรู้ถึงแบรนด์ : การตลาดที่ดีจะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักแบรนด์ของคุณ และยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีได้

เข้าใจลูกค้า : การตลาดที่ดีจะช่วยให้ธุรกิจของคุณเข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้

สร้างความภักดีต่อแบรนด์ : การตลาดที่ดีจะช่วยให้ธุรกิจของคุณตอบสนองความต้องการของลูกค้าและมอบประสบการณ์ที่ดีได้

เพิ่มส่วนแบ่งตลาด : การตลาดที่ดีจะช่วยดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้าหรือบริการของคุณได้ตลอดเวลา

นอกจากจะเกิดประโยชน์กับตัวธุรกิจเองแล้วการตลาดยังมีประโยชน์กับสังคมด้วย เพราะการทำการตลาดจะทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าทั้งในและต่างประเทศ จึงเป็นการสร้างรายได้ให้ประเทศ มีการลงทุนและจ้างงานกันมากขึ้น ผู้คนมีงานทำ มีเม็ดเงินหมุนเวียน ช่วยทำให้ระดับการครองชีพของผู้คนสูงขึ้น

“การตลาดที่ดีจะให้ประโยชน์ทั้งกับตัวธุรกิจเอง ลูกค้า และสังคม”

เมื่อผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อำนาจในการซื้อสินค้าต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้น ทรัพยากรหรือวัตถุดิบต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยการผลิตสินค้าก็จะมีการหมุนเวียนซื้อขายกันอยู่ตลอด สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเหล้านี้ได้ และการตลาดจะทำให้ธุรกิจมีการแข่งจันกันจนเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ยกระดับคุณภาพสินค้าให้ก้าวเข้าสู่ตลาดโลกอีกด้วย

ประเภทของการตลาด

การตลาดในปัจจุบันสามารถแบ่งออกมาได้เป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับวิธีที่ใช้เพื่อทำการตลาด ซึ่งจะมีประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่

การตลาดจะแยกออกมาเป็น 5 ประเภทตามวิธีที่พบบ่อยคือ การตลาดแบบดั้งเดิมที่ใช้สื่อแบบเดิมในการโปรโมต การตลาดออนไลน์ที่ใช้เครื่องมือดิจิทัล การตลาดทางตรงที่ส่งสาสน์ไปยังกลุ่มเป้าหมายทีละคน การประชาสัมพันธ์ที่มักใช้คนมีชื่อเสียงเป็นตัวช่วย และการส่งเสริมการขายโดยใช้โปรโมชั่นต่าง ๆ

การตลาดแบบดั้งเดิม

การตลาดแบบดั้งเดิม หรือ Traditional marketing เป็นวิธีทำการตลาดในแบบเก่าโดยจะใช้สื่อดั้งเดิมเพื่อโปรโมตธุรกิจหรือสินค้า ตัวอย่างเช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เป็นต้น ข้อดีของการตลาดแบบนี้คือใช้เงินทุนค่อนข้างน้อย และยังกำหนดเป้าหมายตามกลุ่มประชากรได้ในระดับหนึ่ง

การตลาดออนไลน์

การตลาดออนไลน์ หรือ Digital marketing เป็นการตลาดที่ค่อนข้างใหม่ โดยจะใช้ช่องทางดิจิทัลเพื่อเข้าถึงผู้คนเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น Social Media Marketing , Email Marketing, Content Marketing หรือการทำ Search Engine Optimization (SEO) เป็นต้น ข้อดีของการตลาดแบบนี้คือเข้าถึงผู้คนได้เยอะ กำหนดกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจงได้ง่าย ประเมินผลง่าย และยังประหยุดเงินทุนที่ใช้ในการทำการตลาด ซึ่งคุณอาจศึกษาเพิ่มเติมได้จาก กลยุทธ์การตลาดออนไลน์

การตลาดทางตรง

การตลาดทางตรง หรือ Direct marketing เป็นการส่งสาสน์ทางการตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ตัวอย่างเช่น การใช้อีเมลหรือไปรษณีย์ เป็นต้น ข้อดีของการตลาดแบบนี้คือเจาะจงเป้าหมายได้ดีมาก วัดผลได้ง่าย และยังประหยัดเงินทุนที่ใช้ในการทำการตลาด

การประชาสัมพันธ์

การประชาสัมพันธ์, การโฆษณา หรือ Publicize, Advertise เป็นการตลาดที่ช่วยสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์และสร้างความน่าเชื่อถือโดยใช้สื่อหรือคนดังต่าง ๆ ช่วยพูดในเชิงที่ดีให้ ตัวอย่างเช่น รายการสัมภาษณ์, การใช้อินฟลูเอนเซอร์ เป็นต้น ข้อดีของการตลาดประเภทนี้คือเจาะจงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย วัดผลได้ ใช้เงินลงทุนครั้งเดียวแต่นำโฆษณามาใช้ต่อได้ในระยะยาว

การส่งเสริมการขาย

การส่งเสริมการขาย หรือ Promotion เป็นการตลาดที่สร้างแรงจูงใจในการซื้อสินค้าโดยตรง ตัวอย่างเช่น คูปอง ส่วนลด ของแถม สินค้าแจกฟรี เพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่และยังใช้เพื่อรักษาลูกค้าเก่าให้กลับมาซื้อซ้ำได้ ข้อดีของการตลาดประเภทนี้คือใช้เพิ่มยอดขายให้ธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเภทของการตลาดยังสามารถแบ่งได้อีกหลายวิธี และยังมีประเภทการตลาดอื่น ๆ อยู่อีกเช่นกัน อย่างที่รู้ว่าการตลาดนั้นเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ แต่ถ้าเลือกใช้ไม่ถูกวิธีหรือเลือกประเภทการตลาดที่ไม่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณหรือกำหนดกลุ่มลูกค้าไม่ได้แม่นยำมากพอก็อาจต้องเสียเงินลงทุนไปโดยเปล่าประโยชน์ได้เช่นกัน

โครงสร้างของการตลาด

โครงสร้างของการตลาดคืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นักธุรกิจควรรู้ เพราะโครงสร้างของการตลาดเป็นตัวบ่งบอกถึงระดับการแข่งขันในตลาด ถ้าเข้าใจในเรื่องของโครงสร้างแล้วนำมาประเมินใช้งานจริงได้ก็จะช่วยให้คุณพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดออกมาได้อย่างเหมาะสม

ตามทฤษฎีแล้วในปัจจุบันจะมีโครงสร้างทางการตลาดที่เป็นพื้นฐานอยู่ 4 รูปแบบ แต่โครงสร้างบางรูปแบบก็เป็นเพียงโครงสร้างในอุดมคติเท่านั้น รวมถึงอาจไม่มีตลาดไหนที่เป็นโครงสร้างแบบใดแบบหนึ่ง 100% ถ้าสามารถทำความเข้าใจหลักการของโครงสร้างแต่ละแบบก็จะช่วยให้เข้าใจหลักการตลาดต่าง ๆ มากขึ้นอีกด้วย

ตลาดการแข่งขันแบบสมบูรณ์เป็นตลาดในอุดมคติที่มีธุรกิจและลูกค้าเยอะ ธุรกิจแต่ละแห่งจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก มีอัตราแข่งขันสูง มีธุรกิจเกิดขึ้นใหม่และถอนตัวไปอยู่ตลอดเวลา

1. ตลาดการแข่งขันแบบสมบูรณ์

ตลาดการแข่งขันแบบสมบูรณ์ หรือ Perfect Competition เป็นโครงสร้างตลาดที่มีแต่ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากแข่งขันกันเอง ลูกค้าเองก็มีเป็นจำนวนมากโดยไม่มีธุรกิจรายใหญ่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด ธุรกิจขนาดเล็กทั้งหมดจึงได้เป็นผู้กำหนดราคาสินค้าเอง และโครงสร้างแบบนี้จะมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นกับธุรกิจเก่าที่ถอนตัวออกไปอยู่ตลอดเวลา และธุรกิจที่ถอนตัวออกไปก็จะไม่ขาดทุนมากด้วยเช่นกัน

เมื่อมีธุรกิจขนาดเดียวกันเข้ามาอยู่ในตลาดเดียวกันเป็นจำนวนมาก องค์กรหรือลูกค้าแค่รายเดียวจึงไม่มีผลกระทบต่อภาพรวมของตลาด แม้จะมีข้อดีอยู่หลายอย่าง แต่โครงสร้างตลาดแบบนี้ก็มีข้อเสียคือลูกค้าจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีทางเลือก และตลาดการแข่งขันแบบสมบูรณ์ก็เป็นเพียงตลาดในอุดมคติที่ไม่น่าเกิดขึ้นจริง จะมีแค่ตลาดบางประเภทที่คล้ายกัน ตัวอย่างเช่น ตลาดการเกษตร ตลาดหัตถกรรมหรือศิลปะ เป็นต้น

ตลาดการแข่งขันแบบผูกขาดเป็นโครงสร้างตลาดที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน มีธุรกิจและลูกค้าเยอะ แต่สินค้าจะมีความแตกต่างกันแค่เล็กน้อย อัตราการแข่งขันไม่สูง สินค้าและบริการจึงไม่ค่อยมีการพัฒนา

2. ตลาดการแข่งขันแบบผูกขาด

ตลาดการแข่งขันแบบผูกขาด หรือ Monopolistic Competition เป็นโครงสร้างตลาดที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน การแข่งขันแบบผู้ขาดอาจจะมีธุรกิจและลูกค้าจำนวนมากเหมือนตลาดการแข่งขันแบบสมบูรณ์ แต่สินค้าที่ตลาดแบบผูกขาดขายจะมีความคล้ายกันมาก อาจจะมีจุดแตกต่างกันแค่นิดหน่อย ลูกค้าจึงอาจจะซื้อสินค้าจากธุรกิจหลายแห่งได้พร้อมกัน ด้วยรายละเอียดที่ต่างกันนิดเดียวนี้เลยทำให้ธุรกิจแทบทุกแห่งสามารถตั้งราคาสินค้าของตัวเองได้ในระดับหนึ่งด้วย

ตัวอย่างของสินค้าในตลาดการแข่งขันแบบผูกขาดคืออาหารธัญพืชหรือยาสีฟันที่มักจะมีรสชาติหรือส่วนผสมที่แตกต่างกันแค่นิดเดียว และด้วยการที่สามารถผูกขาดตลาดได้เลยทำให้ธุรกิจในตลาดประเภทนี้ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาสินค้าหรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา การแข่งขันจึงไม่สูงนัก และยังอาจเกิดภาวะเงินเฟ้อในตลาดได้

ตลาดแบบผูกขาดเป็นโครงสร้างตลาดในอุดมคติที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างยากในปัจจุบัน โดยจะมีธุรกิจเพียงเจ้าเดียวผูกขาดการขายสินค้าทั้งหมด ไม่มีการแข่งขัน ลูกค้าไม่มีทางเลือก สินค้าและบริการจึงไม่มีการพัฒนา

3. ตลาดแบบผูกขาด

ตลาดแบบผูกขาด หรือ Monopoly จะเป็นตลาดที่มีธุรกิจผูกขาดการขายสินค้าเพียงแค่เจ้าเดียว ธุรกิจนั้นจะเป็นผู้ควบคุมสินค้าทั้งหมดเอาไว้และกำหนดราคาเองได้ตามต้องการ เพราะลูกค้าจะไม่มีทางเลือกอื่น ธุรกิจนี้เลยอยู่เหนืออำนาจตลาด ลูกค้าอาจไม่ชอบเพราะต้องซื้อสินค้าตามราคาที่กำหนดเอาไว้ ในเรื่องคุณภาพก็อาจไม่ดีเพราะไม่มีการแข่งขันจึงไม่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงหรือพัฒนา

ตัวอย่างของตลาดแบบผูกขาดก็เช่นร้านขายอาหารร้านเดียวในระยะ 20 กิโลเมตร ผู้คนในพื้นที่ก็จะถูกบังคับให้ซื้ออาหารกับร้านนี้เท่านั้น ในขณะเดียวกันเจ้าของร้านก็จะรู้ว่าลูกค้าไม่มีทางเลือก ร้านนี้จึงไม่ต้องสนใจเรื่องคุณภาพหรือราคาเพราะยังไงลูกค้าก็ต้องมาซื้ออยู่ดี ตลาดแบบผูกขาดถือว่าเป็นโครงสร้างตลาดที่ไม่ดีเพราะตลาดจะไม่มีการแข่งขัน ไม่มีการพัฒนา ไม่มีการคิดค้นอะไรใหม่ ๆ แต่ตลาดแบบผูกขาดก็เป็นแค่ตลาดในอุดมคติที่เกิดขึ้นจริงได้ยากในยุคสมัยนี้

ตลาดแบบผู้ขายน้อยรายมักจะเป็นตลาดขนาดเล็กที่มีธุรกิจเพียงไม่กี่แห่ง การแข่งขันต่ำ บางธุรกิจอาจร่วมมือกันเอง ส่วนมากจะเป็นตลาดที่มีอุปสรรคเยอะ อัตราการเติบโตของธุรกิจก็ต่ำเช่นกัน

4. ตลาดแบบผู้ขายน้อยราย

ตลาดแบบผู้ขายน้อยราย หรือ Oligopoly เป็นโครงสร้างตลาดแคบ ๆ ที่มีธุรกิจเพียงไม่กี่แห่งในตลาด ส่วนใหญ่แล้วจะมีธุรกิจแข่งขันกันเองอยู่ประมาณไม่ต่ำกว่า 3-5 เจ้า เมื่อตลาดค่อนข้างแคบ ธุรกิจบางเจ้าอาจจะส่วนมือกันเองเพื่อช่วยกันกำหนดราคา และตลาดผู้ขายน้อยรายนี้ตัวธุรกิจเองก็จะมีอำนาจมากกว่าลูกค้าจึงมักจะกำหนดราคากันเองอยู่แล้ว

โดยทั่วไปแล้วโครงสร้างแบบนี้มักจะเกิดขึ้นกับตลาดธุรกิจที่มีอุปสรรคเยอะ จึงไม่ค่อยมีธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้น การแข่งขันจะไม่สูงมากนัก และอัตราการเติบโตของธุรกิจในตลาดแบบผู้ขายน้อยรายก็มักจะต่ำด้วยเช่นกัน

สรุป : การตลาดคืออะไร ประเภทของการตลาดและโครงสร้างภาพรวม

อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่าการตลาดคือกระบวนการที่ทำให้กลุ่มลูกค้ารับรู้ถึงแบรนด์และรู้จักสินค้าของธุรกิจคุณได้ ดังนั้นถ้ามีการตลาดที่ดีก็จะช่วยให้มียอดขายสูงขึ้น สามารถหาลูกค้าใหม่ได้ตลอดและยังทำให้ลูกค้าเก่ากลับมาซื้อกันอย่างต่อเนื่องแบบที่จะเห็นกันว่าธุรกิจเจ้าใหญ่หลายแห่งในตลาดพยายามแข่งขันด้านการตลาดกันอยู่เสมอ

“การตลาดเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์”

แต่การจะรู้ว่าควรต้องใช้กลยุทธ์การตลาดแบบไหนก็ต้องมีการศึกษาประเภทและโครงสร้างตลาดเอาไว้ด้วยเพื่อให้รู้ว่าตลาดของธุรกิจคุณเป็นแบบไหน อยู่ในระดับไหน และเหมาะที่จะใช้กลยุทธ์แบบไหน แต่การตลาดก็ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรที่ตายตัว การตลาดจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจของคุณจะสามารถประยุกต์ใช้ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัวมาปรับปรุงให้ลูกค้าสนใจและเกิดเป็นความสำเร็จได้มากแค่ไหนเท่านั้นเอง

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *