การวางโครงสร้างองค์กรอย่างเป็นระบบ เพื่อการบริหารจัดการอย่างราบรื่น

การวางโครงสร้างองค์กรอย่างเป็นระบบนับว่ามีความสำคัญเพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปได้อย่างราบรื่น เพราะทุกองค์กรจะต้องมีโครงสร้างเพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ของพนักงานแต่ละคนเอาไว้ ถ้าพนักงานทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเองก็จะช่วยให้ประสิทธิภาพของงานดีขึ้น ไม่มีการก้าวก่ายหน้าที่กัน ไม่ลืมหน้าที่ของตัวเอง และยังช่วยให้บุคลากรระดับสูงขององค์กรตรวจสอบการทำงานของพนักงานได้ง่ายขึ้นด้วย

โครงสร้างองค์กรคืออะไร ?

โครงสร้างองค์กร (Organizational Structure) คือการสร้างแผนผังเพื่อกำหนดตำแหน่งหน้าที่ให้บุคลากรภายในองค์กร สร้างอำนาจบังคับบัญชาและการสื่อสารตามลำดับขั้นเพื่อให้เกิดความราบรื่นในการทำงานร่วมกัน โครงสร้างองค์กรจะช่วยให้เป้าหมายที่วางเอาไว้สำเร็จได้ง่ายขึ้นจากความร่วมมือกันโดยจะมีองค์ประกอบของโครงสร้างองค์กรดังนี้

– Objective หรือวัตถุประสงค์ในการจัดทำโครงสร้างองค์กร

– Chain of Command หรือการกำหนดสายงานบังคับบัญชา

– Levels หรือตำแหน่งและภาระหน้าที่ในตำแหน่งนั้น

– Span of Control หรือขนาดการควบคุมของหัวหน้างานแต่ละแผนก

– Unity of Command หรือเอกภาพของการบังคับบัญชา เพื่อการทำงานเป็นทีมและการสื่อสารที่ดี

รูปแบบของโครงสร้างองค์กรมีแบบไหนบ้าง ?

ในปัจจุบันจะมีรูปแบบของโครงสร้างองค์กรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอยู่ 7 รูปแบบ แต่ละแบบก็จะมีข้อดีและข้อเสียต่างกันไปดังนี้

โครงสร้างองค์กรแบบลำดับชั้นจะมี CEO ถืออำนาจสูงสุด จากนั้นจะกระจายอำนาจไปตามตำแหน่งอื่น ๆ แบบเป็นลำดับชั้น

1. โครงสร้างองค์กรแบบลำดับชั้น

โครงสร้างองค์กรแบบลำดับชั้นหรือ Hierarchical Structure จะมี CEO อยู่เหนือสุด จากนั้นก็จะมีผู้จัดการ หัวหน้า หรือตำแหน่งอื่น ๆ ไล่ลงมาเป็นลำดับขั้นชัดเจน

ข้อดี

– บุคลากรภายในจะรู้หน้าที่ของตัวเองชัดเจน

– จัดการภายในได้ง่ายเพราะมีลำดับขั้นในการจัดการ

– มีการเลื่อนขั้นเป็นแรงจูงใจในการทำงาน

– เปิดตำแหน่งพิเศษเฉพาะทางได้

– บุคลากรมีความสนิทสนมกัน สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี

ข้อเสีย

– นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ได้ช้า

– การอนุมัติโปรเจ็คใหม่ช้า เพราะต้องทำตามลำดับขั้น

– บุคลากรอาจทำงานเพื่อแผนกตัวเอง ไม่ใช่ภาพรวมขององค์กร

– บุคลากรระดับล่างอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสำคัญต่อองค์กร

เหมาะสำหรับองค์กรแบบไหน ?

โครงสร้างแบบลำดับชั้นเป็นเหมือนโครงสร้างมาตรฐานที่ใช้ได้กับทุกองค์กรที่ต้องการสายบังคับบัญชาที่เป็นลำดับชั้น มีกฎระเบียบที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น Toyota และ McDonald’s ที่ต้องการควบคุมมาตรฐานคุณภาพสินค้าให้เหมือนกันทุกชิ้น

โครงสร้างองค์กรแบบตามหน้าที่จะมี CEO ถืออำนาจสูงสุดแล้วกระจายอำนาจไปยังแผนกต่าง ๆ โดยมีผู้จัดการคอยควบคุมพนักงานอีกที

2. โครงสร้างองค์กรแบบตามหน้าที่

โครงสร้างองค์กรแบบตามหน้าที่หรือ Functional Structure จะคล้ายโครงสร้างองค์กรแบบลำดับชั้นแต่จะมีความเฉพาะเจาะจงต่อหน้าที่หรืองานบางอย่างมากกว่า ลำดับขั้นในแต่ละแผนกอาจจะไม่เท่ากันแต่อาจใช้วิธีให้ผู้จัดการทุกฝ่ายขึ้นตรงกับ CEO แทน

ข้อดี

– บุคลากรจะให้ความสำคัญกับหน้าที่ตัวเอง

– บุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทางจะได้รับความสำคัญ

– ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดหรือขยายได้ง่าย

ข้อเสีย

– การทำงานเป็นทีมระหว่างแผนกอาจทำได้ยาก

เหมาะสำหรับองค์กรแบบไหน ?

โครงสร้างแบบตามหน้าที่จะเหมาะสำหรับองค์กรที่มีการแยกสายงานเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยหรือโรงพยาบาล

โครงสร้างองค์กรแบบตามหน่วยงานจะมี CEO ถืออำนาจสูงสุดแล้วกระจายอำนาจไปยังทีมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

3. โครงสร้างองค์กรแบบตามหน่วยงาน

โครงสร้างองค์กรแบบตามหน่วยงานหรือ Divisional Structure มักจะพบได้ตามองค์กรขนาดใหญ่ที่แยกสายงานบังคับบัญชาตามผลิตภัณฑ์ แต่ละหน่วยจะแยกกันอิสระเพื่อให้ตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น

ข้อดี

– มีความยืดหยุ่นในการทำงานสูง

– ตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ เร็ว

– บุคลากรทำงานได้อย่างอิสระ

ข้อเสีย

– อาจเกิดหน้าที่งานซ้ำซ้อน

– อาจมีการสื่อสารระหว่างแผนกคาดเคลื่อนหรือสื่อสารกันได้ไม่ดี

– แต่ละแผนกอาจแข่งขันกันเอง

เหมาะสำหรับองค์กรแบบไหน ?

โครงสร้างแบบตามหน่วยงานจะเหมาะสำหรับองค์กรที่มีผลิตภัณฑ์หลายประเภท ตัวอย่างเช่น Unilever ที่มีสินค้าเป็นแบรนด์ย่อย ๆ ทั้ง Dove, OMO, Lipton

โครงสร้างองค์กรตามแนวนอนจะมี CEO ถืออำนาจสูงสุดและดูแลพนักงานโดยตรง

4. โครงสร้างองค์กรตามแนวนอน

โครงสร้างองค์กรตามแนวนอนหรือ Horizontal / Flat Structure จะมีลำดับขั้นค่อนข้างน้อย CEO อาจสูงกว่าบุคลากรทั่วไปแค่ไม่กี่ขั้นเพื่อให้เกิดความเสมอภาคในองค์กร มักพบในธุรกิจเปิดใหม่ที่กำลังขยายกิจการ

ข้อดี

– ส่งเสริมความรับผิดชอบให้บุคลากร

– การสื่อสารระหว่างแผนกมีประสิทธิภาพ

– การประสานงาน การเสนอความคิดมีประสิทธิภาพ

ข้อเสีย

– บุคลากรอาจสับสนกับคำสั่งเพราะลำดับขั้นไม่ชัดเจนมาก

– เมื่อบริษัทโตขึ้นอาจต้องเปลี่ยนโครงสร้าง

เหมาะสำหรับองค์กรแบบไหน ?

โครงสร้างตามแนวนอนจะเหมาะสำหรับองค์กรแบบสตาร์ทอัพที่ยังมีจำนวนพนักงานไม่มากและเน้นอิสระกับความเร็วในการทำงานเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น บริษัทเกม Valve ที่พนักงานสามารถเลือกโปรเจ็คเองได้

โครงสร้างองค์กรแบบแมททริกซ์จะ CEO ถืออำนาจสูงสุดและผู้จัดการแผนกต่าง ๆ รองลงมา ถัดจากนั้นจะเป็นพนักงานทั่วไป

5. โครงสร้างองค์กรแบบแมททริกซ์

โครงสร้างองค์กรแบบแมททริกซ์หรือ Matrix Structure มักพบในองค์กรที่มีความชำนาญเฉพาะทางหรือองค์กรที่ทำงานกันเป็นโปรเจ็คโดยอาศัยความสามารถพนักงานที่หลากหลาย

ข้อดี

– หัวหน้างานเลือกบุคลากรตามความสามารถได้ง่าย

– บุคลากรจะมีความสามารถเฉพาะทางมากขึ้น

ข้อเสีย

– บุคลากรระดับสูงอาจขัดแย้งกันเอง

– โครงสร้างองค์กรอาจเปลี่ยนแปลงบ่อย

เหมาะสำหรับองค์กรแบบไหน ?

โครงสร้างแบบแมททริกซ์เหมาะสำหรับองค์กรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญงานเฉพาะทางที่มีโปรเจ็คหลายแบบ ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ปรึกษาและบริษัทเอเจนซี่ต่าง ๆ

โครงสร้างองค์กรแบบทีมงานจะมี CEO เป็นศูนย์กลางแล้วกระจายอำนาจไปยังทีมงานย่อยโดยตรง

6. โครงสร้างองค์กรแบบทีมงาน

โครงสร้างองค์กรแบบทีมงานหรือ Team-based Structure คล้ายโครงสร้างองค์กรแบบแมททริกซ์แต่จะมีความร่วมมือกันระหว่างแผนกมากขึ้น เหมาะสำหรับองค์กรที่เน้นเป้าหมายระยะสั้น

ข้อดี

– เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทั้งในและระหว่างแผนก

– ส่งเสริมความคิดบุคลากรทุกคน

– สลับตำแหน่งงานได้ง่าย

– เน้นประสบการณ์หรือฝีมือการทำงานมากกว่าอายุงาน

– บุคลากรทุกคนสามารถช่วยทำงานเดียวกันได้

ข้อเสีย

– ลำดับขั้นไม่ชัดเจน

– หลักในการเลื่อนตำแหน่งไม่ชัดเจน

เหมาะสำหรับองค์กรแบบไหน ?

โครงสร้างแบบทีมงานเหมาะสำหรับองค์กรที่มักจะรับงานโปรเจ็คใหญ่ ๆ พนักงานมีความรู้พื้นฐานใกล้เคียงกัน และสามารถแชร์งานกันได้ ตัวอย่างเช่น Spotify และ Netflix

โครงสร้างองค์กรแบบเครือข่ายหรือจะมี CEO เป็นศูนย์กลางแล้วกระจายงานไปยังสาขาต่าง ๆ โดยตรง

7. โครงสร้างองค์กรแบบเครือข่าย

โครงสร้างองค์กรแบบเครือข่ายหรือ Network Structure จะมีสำนักงานใหญ่หรือ CEO ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางแล้วกระจายงานไปยังสาขาหรือแผนกย่อย ๆ โดยตรง

ข้อดี

– มีความยืดหยุ่นสูง

– การสื่อสารภายในองค์กรทำได้ง่าย

– บุคลากรทุกคนมีอำนาจใกล้เคียงกัน

– บุคลากรทุกคนจะเข้าใจหน้าที่ทุกส่วน

ข้อเสีย

– การตัดสินใจทำได้ช้าถ้าไม่มี CEO คอยควบคุม

เหมาะสำหรับองค์กรแบบไหน ?

โครงสร้างแบบเครือข่ายเหมาะสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนหรือมีหลายสาขา ตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชั่น Uber หรือบริษัท E-commerce ต่าง ๆ

การวางโครงสร้างองค์กรอย่างเป็นระบบสำคัญอย่างไร ?

การวางโครงสร้างองค์กรอย่างเป็นระบบจะช่วยให้บุคลากรภายในรู้ว่าหน้าที่ของตัวเองคืออะไร อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของใคร เมื่อเกิดปัญหาหรือต้องการคำแนะนำต้องปรึกษาใคร การทำงานจะเต็มไปด้วยความราบรื่นเพราะแต่ละคนต่างรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง การมองโครงสร้างองค์กรจะทำให้เห็นภาพรวมของธุรกิจนั้นด้วยว่ากำลังเดินไปในทิศทางไหน เมื่อเกิดปัญหาก็ช่วยให้รู้ว่าควรต้องปรับปรุงในส่วนไหนหรือต้องเพิ่มความสำคัญให้ส่วนไหน เป็นต้น

รวมเทคนิคการบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่ว่าคุณจะมีธุรกิจใหญ่แค่ไหน มีเงินทุนหนาแค่ไหน แต่ถ้าบริการจัดการองค์กรไม่เป็น ปลายทางธุรกิจนั้นก็ไม่น่าจะไปไหนได้ไกลเพราะปัญหาการจัดการภายในองค์กรเอง ถ้าไม่อยากให้ธุรกิจเจ๊งไวก็จะมีเทคนิคการบริหารจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพและควรทำดังนี้

กำหนดทิศทางองค์กรให้ชัดเจน

ก่อนจะเริ่มทำอะไรจะต้องวางแผนทิศทางองค์กรที่ชัดเจนเพื่อให้บุคลากรทุกคนมองเห็นอนาคตว่ากำลังจะไปกันทางไหน เป็นการสร้างเป้าหมายให้ทุกคนร่วมกันทำตามและยังสร้างกำลังใจได้เมื่อองค์กรเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง

การกำหนดทิศทางขององค์กรจะต้องทำให้ชัดเจนเพื่อให้บุคลากรทุกคนรู้ว่าจะต้องทำอะไร จะต้องเดินไปทางไหน ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารจัดการ การจัดระเบียบ การสื่อสารภายใน การสั่งการ การคัดเลือกบุคลากร และขั้นตอนหรือวิธีอื่น ๆ เพื่อให้องค์กรเดินไปสู่เป้าหมายได้อย่างราบรื่น

จัดระเบียบภายในองค์กร

การจัดระเบียบภายในองค์กรคือการทำให้บุคลากรทั้งหมดมาร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่น

– การวางแผนงาน

– การสร้างกฎระเบียบ

– การสั่งการ

– การคัดเลือกบุคลากร

– การสื่อสารภายในองค์กร

การเอาใจใส่บุคลากร

องค์กรทุกแห่งจะทำกิจการได้ก็ต้องอาศัยบุคลากร ถ้ามีการดูแลเอาใจใส่บุคลากรดีก็จะช่วยดึงศักยภาพของแต่ละคนออกมาได้มากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการสร้างแรงจูงใจและสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี มีกิจกรรมให้บุคลากรได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะต่าง ๆ ด้วย

การใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์

เมื่อได้ข้อมูลอะไรมา ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการทำงานของพนักงาน ข้อมูลการขาย ข้อมูลความต้องการของลูกค้า หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับองค์กรและการทำงาน จะต้องรู้จักนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ก็ต้องมีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลด้วย เพราะการรับข้อมูลผิดไปใช้จะทำให้บริการจัดการผิดทางด้วยเช่นกัน

การปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย

ในโลกยุคนี้ที่เทคโนโลยีต่าง ๆ ก้าวไปอย่างรวดเร็ว ถ้าใครตามเทคโนโลยีไม่ทันก็จะเสียโอกาสหลายอย่างไป นอกจากเทคโนโลยีจะช่วยให้คุณมีเครื่องมือในการบริการจัดการที่ดีแล้ว ความทันสมัยยังดึงดูดกลุ่มลูกค้าให้คุณได้อีกด้วย ในส่วนนี้อาจใช้วิธีรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรภายในองค์กรหรือความคิดเห็นของลูกค้าเข้ามาเป็นข้อมูลการปรับตัวได้

แนะนำทฤษฎีการบริหารจัดการที่น่าสนใจ

นอกจากเทคนิคการบริหารจัดการที่พูดถึงไปก่อนหน้า ก็ยังมีทฤษฎีการบริหารจัดการอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกหลายทฤษฎี ตัวอย่างเช่น ทฤษฎี POCCC ของ Henri Fayol วิศวกรเหมืองแร่และนักวิชาการชาวฝรั่งเศสที่สรุปหลักแนวคิดว่าถ้าต้องใช้กลุ่มคนจำนวนมากเพื่อทำงานในที่เดียวกันก็จะต้องมีองค์ประกอบ 5 เพื่อให้งานบรรลุได้ตามเป้าหมายคือ POCCC

Henri Fayol คือวิศวกรเหมืองแร่และนักวิชาการชาวฝรั่งเศสที่เป็นผู้พัฒนาแนวคิดหลายอย่างเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจแบบร่วมสมัยรวมไปถึงแนวคิด POCCC ปัจจุบันแนวคิดของ Henri Fayol จะถูกเรียกกันว่า Fayolism

ทฤษฎี POCCC คือหน้าที่ 5 อย่างที่ต้องเกิดขึ้นภายในองค์กรเพื่อประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน แต่ละหน้าที่จะมีความสำคัญของตัวเองและเชื่อมโยงไปถึงกันด้วย

– P : Planning หรือการวางแผน คือการสร้างแผนหรือแนวทางในการทำงานทั้งหมดเอาไว้ล่วงหน้า ในส่วนนี้อาจต้องอาศัยทั้งวิสัยทัศน์ ประสบการณ์ ข้อมูล และจินตนาการเพื่อสร้างเป็นแผนการทำงานและกำหนดเป้าหมายที่ต้องทำเอาไว้ให้ชัดเจน

– O : Organizing หรือการจัดองค์กร คือการกำหนดตำแหน่ง หน้าที่ ความรับผิดชอบ และการแบ่งจำนวนบุคลากรไปตามแผนกต่าง ๆ เพื่อให้ครบทุกภาคส่วนของงาน ถ้าจัดองค์กรได้ดีก็จะไม่เกิดความซ้ำซ้อนของงาน บุคลากรทุกคนจะรู้หน้าที่ของตัวเองชัดเจน มีจำนวนคนพอทำงาน ส่งผลให้ได้เนื้องานที่มีประสิทธิภาพขึ้นด้วย

– C : Commanding หรือการสั่งงาน เป็นสิ่งที่จะตามมาหลังกำหนดลำดับขั้นของตำแหน่งงานที่ชัดเจนได้แล้ว หัวหน้าของแต่ละแผนกจะต้องเป็นผู้มองภาพรวมของงาน ภาพรวมของคน และสั่งการอย่างรัดกุมเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย ถ้ามีผู้สั่งงานที่ดีก็จะมีการตัดสินใจที่เฉียบขาด ว่องไว สร้างแรงจูงใจในการทำงานได้ และจะต้องเอาใจใส่ลูกน้องไปด้วยเช่นกัน

– C : Coordination หรือการประสานงาน คือการทำหน้าที่เชื่อมโยงให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายเดียวกันอย่างราบรื่น การประสานงานที่ดีจะต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่ายตั้งแต่บุคลากรระดับสูงไปจนถึงบุคลากรระดับล่างสุดที่อยู่ในองค์กร

– C : Controlling หรือการควบคุม คือการกำกับดูแลเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงตามแผนที่วางเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นด้านผลลัพธ์การทำงาน ขั้นตอนการทำงาน มาตรฐานของงาน เวลาในการทำงาน ไปจนถึงการจัดการทรัพยากรทั้งหมด

หน้าที่ 5 อย่างตามแนวคิด POCCC ของ Henri Fayol ก็คือ Planning การวางแผน / Organizing การจัดองค์กร / Commanding การสั่งงาน / Coordination การประสานงาน และ Controlling การควบคุม ซึ่งหน้าที่ทุกอย่างนี้จะต้องทำงานสอดคล้องกันเพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กร

ทฤษฎี POCCC ยังนำมาประยุกต์ใช้งานในองค์กรได้อีกหลายวิธี โดยอาจดูตัวอย่างได้ ที่นี่

นอกจากหน้าที่ 5 อย่างที่ควรมีในทุกองค์กรแล้ว Henri Fayol ยังคิดค้นหลักในการบริหารจัดการหรือ Principles of Management ขึ้นมาจากประสบการณ์ของตัวเอง โดยจะมีทั้งหมด 14 ข้อ ได้แก่

1. การแบ่งหน้าที่ (Division of Work) เมื่อวางโครงสร้างองค์กรมาแล้วหน้าที่ต่าง ๆ ก็จะถูกแบ่งออกมาอย่างชัดเจนตามทักษะ ความชำนาญ หรือประสบการณ์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของงานที่ดีที่สุด

2. อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ (Authority & Responsibility) ไม่ว่าจะเป็นหน้างานปฏิบัติการ การตัดสินใจ การออกคำสั่ง หรือการบริการจัดการ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่จะต้องมี และจะต้องทำภายในขอบเขตอำนาจของตัวเองเท่านั้น

3. ระเบียบวินัย (Discipline) การทำงานกับคนหมู่มาก สิ่งที่ขาดไม่ได้คือระเบียบวินัยหรือข้อตกลงร่วมกันที่จะต้องปฏิบัติในการทำงาน เพื่อให้เกิดปัญหาในการทำงานน้อยที่สุด ได้ประสิทธิภาพของงานที่ดีที่สุด

4. เอกภาพของการบังคับบัญชา (Unity of Command) หมายถึงการมีหัวหน้างานหรือผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจเด็ดขาดเพียงคนเดียวเพื่อไม่ให้เกิดการสับสนและตัดสินใจคำสั่งต่าง ๆ ได้เร็วที่สุด

“การมีหัวหน้างานหลายคนอาจเกิดความขัดแย้งกันเองระหว่างหัวหน้าของแต่ละแผนกได้ด้วย”

5. เอกภาพของทิศทางการทำงาน (Unity of Direction) ภายในองค์กรควรมีทิศทางขององค์กรหรือแผนงานหลักเพียงแผนเดียวเพื่อให้เกิดภาพการทำงานที่ชัดเจนสำหรับบุคลากร แต่อาจจะมีแผนสำรองเผื่อเอาไว้ได้ในกรณีที่แผนหลักเกิดปัญหา

6. ประโยชน์ส่วนรวมสำคัญที่สุด (Subordination of Individual Interest) การทำงานทุกส่วนควรยึดถือประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้กรอบความถูกต้อง ความเหมาะสม และความยุติธรรมด้วยเช่นกัน

ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนไม่จำเป็นต้องเป็นเงินเสมอไป แต่อาจจะมาในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ของรางวัล สวัสดิการ การฝึกอบรม งานเลี้ยงบริษัท การท่องเที่ยวประจำปี หรือประกาศนียบัตร เป็นต้น

7. ผลประโยชน์และค่าตอบแทน (Remuneration) องค์กรควรจัดทำผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ให้บุคลากรทุกคนอย่างเหมาะสม ยุติธรรม และควรปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ค่าตอบแทนนี้จะรวมทั้งเงินเดือน ค่าจ้าง รางวัล และสวัสดิการอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ใช่ตัวเงินก็ได้

8. การรวมและกระจายอำนาจ (The Degree of Centralization) แน่นอนว่าการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางจะช่วยให้ตัดสินใจและสั่งการต่าง ๆ ได้เร็ว และจะต้องมีการกระจายอำนาจลงไปตามลำดับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างสมดุลเพื่อให้ควบคุมการทำงานง่ายขึ้น

9. สายการบังคับบัญชา (Scalar chain) สายงานจะช่วยให้มีลำดับขั้นในการทำงานและการบริหารที่ชัดเจน สามารถจัดการได้ง่าย มองเห็นปัญหาไว แต่จะต้องมีการสื่อสารกันอย่างเหมาะสมด้วย

10. ความพร้อมในการทำงาน (Order) เมื่อมีคำสั่งลงมาแล้วบุคลากรทุกคนควรมีความพร้อมและทำงานกันอย่างเป็นระเบียบเพื่อเนื้องานที่ราบรื่น ซึ่งจะต้องมีความพร้อมในด้านแรงงาน สถานที่ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการจัดระเบียบที่ดีด้วยเช่นกัน

11. ความเสมอภาค (equity) แม้จะมีตำแหน่งที่ต่างกันแต่ก็สร้างความเสมอภาคได้ด้วยการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน มีมนุษยธรรม ไม่กดขี่ข่มเหงกัน รวมถึงความมีน้ำใจ ซื่อสัตย์ ไม่เอาเปรียบกันด้วย

“เมื่อมีการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ทุกความสัมพันธ์จะเป็นไปอย่างราบรื่น”

12. เสถียรภาพในการทำงาน (Stability of Tenure of Personnel) คือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี บุคลากรสามารถทำงานได้แบบไม่มีเรื่องให้กังวล มีเป้าหมายที่ชัดเจนและการกระตุ้นอย่างเหมาะสมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์การทำงานที่ดีที่สุด

13. เสรีภาพในการนำเสนอ (Initiative) บุคลากรทุกคนควรมีสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ หรือความคิดเห็นของตัวเองโดยผู้บังคับบัญชาก็จะต้องมองความคิดเห็นของลูกน้องเป็นเรื่องสำคัญด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดแนวคิดใหม่ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อองค์กร

14. ความไว้วางใจ (Esprit de Corps) หลักข้อนี้ถูกนำมาจากกองทัพฝรั่งเศสที่หมายถึง “สามัคคีคือพลัง” เมื่อบุคลากรทุกคนไว้วางใจกัน ร่วมมือร่วมใจกัน การทำงานก็จะสอดคล้องกันและเกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดแน่นอน

Esprit de Corps เป็นคำขวัญของกองทัพฝรั่งเศสที่มีหมายความว่า สามัคคีคือพลัง ถ้ามีการร่วมมือกันของทุกคนภายในองค์กรก็จะช่วยให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

วางโครงสร้างองค์กรอย่างไรให้เหมาะสำหรับธุรกิจของคุณ ?

อย่างที่ได้เห็นกันไปแล้วว่าหลักในการวางโครงสร้างองค์กรรวมไปถึงรูปแบบขององค์กรก็มีอยู่หลายแบบ การจะตัดสินใจเลือกโครงสร้างแบบไหนมาใช้กับธุรกิจของคุณก็จะต้องดูจากปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นขนาดขององค์กร จำนวนบุคลากร ประเภทของธุรกิจ ทรัพยากรที่มี รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ คุณจะต้องมองจากภาพกว้างขององค์กรแล้วค่อย ๆ วิเคราะห์ทีละส่วนเพื่อให้ได้โครงสร้างองค์กรที่น่าจะเหมาะสมกับธุรกิจของคุณมากที่สุด